xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหวพม่าผ่านไปแล้ว 3 สัปดาห์ อาฟเตอร์ช็อกถี่ยังทำชาวบ้านหวาดกลัว งานฟื้นฟูคืบช้าเหตุทรัพยากรขาดแคลน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - บริการขั้นพื้นฐานยังคงไม่ได้รับการแก้ไขฟื้นฟูในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแผ่นดินไหวรุนแรงของพม่าเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน และเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เข้ากู้ร่างผู้เสียชีวิตและเก็บกวาดเศษซากปรักหักพังต้องต่อสู้กับอาฟเตอร์ช็อกที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องและการขาดแคลนทรัพยากร

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุในรายงานสถานการณ์ว่า อาฟเตอร์ช็อกรุนแรงยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลางของพม่าเกือบทุกวัน ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวหวาดกลัว และรู้สึกถึงความไม่แน่นอนมากขึ้น รวมทั้งยังขัดขวางความพยายามในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ และเพิ่มแรงกดดันต่อทรัพยากรและบริการที่มีอยู่อย่างจำกัดมากยิ่งขึ้น

“ 3 สัปดาห์หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในพม่าเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ชุมชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดยังคงไม่มีที่พักพิงที่ปลอดภัย น้ำสะอาด และระบบสุขาภิบาล ไฟฟ้าที่เสถียร การดูแลสุขภาพ และบริการจำเป็น” รายงานระบุ

ศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดอยู่ใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ ที่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่า แต่แผ่นดินไหวครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างหนักใน 6 ภาคและรัฐ รวมทั้งกรุงเนปีดอ

นอกจากนี้ แผ่นดินไหวยังทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายอยู่แล้วจากสงครามกลางเมืองในประเทศเลวร้ายลงไปอีก ที่รายงานของสหประชาชาติระบุว่าทำให้ผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นภายในประเทศ และอีกเกือบ 20 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือ

หนังสือพิมพ์เมียนมาร์อาลิน ของพม่ารายงานเมื่อวันเสาร์ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวอยู่ที่ 3,726 คน บาดเจ็บ 5,105 คน และยังคงสูญหาย 129 คน โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยระหว่างประเทศและบุคลากรทางการแพทย์ 1,975 คน จาก 25 ประเทศ ได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยในพื้นที่ ช่วยชีวิตผู้ประสบภัยได้ 653 คน และกู้ร่างผู้เสียชีวิตจากซากปรักหักพังได้ 752 คน

เมียนมาร์อาลินยังรายงานว่า บ้านเรือนและอาคาร 65,096 หลัง โรงเรียน 2,514 แห่ง กุฏิสงฆ์ 4,317 หลัง วัดและเจดีย์ 6,027 แห่ง โรงพยาบาลและคลินิก 350 แห่ง สะพาน 170 แห่ง ทางหลวงสายหลักกของประเทศ 203 ช่วง ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว

สำนักงานดับเพลิงพม่าที่เป็นหน่วยงานบริการเหตุฉุกเฉินอย่างเป็นทางการที่ปฏิบัติงานในหลายพื้นที่ของประเทศ ระบุในคำแถลงว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังดำเนินการบรรเทาทุกข์ ค้นหา และเก็บกวาดเศษซากปรักหักพังของอาคารขนาดใหญ่ และได้ส่งคืนเครื่องประดับมีค่า เงินสด และเอกสารที่พบตามซากปรักหักพังให้กับเจ้าของ

เจ้าหน้าที่จากสหพันธ์กู้ภัยพม่า (มัณฑะเลย์) ที่ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง กล่าวว่าภารกิจหลักใน 3 สัปดาห์หลังเกิดแผ่นดินไหว คือการเก็บกู้ศพและเก็บกวาดเศษซากอาคาร ขณะเดียวกันก็ให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งที่ขอไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับสื่อกล่าวว่า จำนวนศพที่กู้ได้ในแต่ละวันลดลงเหลือเพียง 1 หรือ 2 ศพเท่านั้น

เจ้าหน้าที่กู้ภัยอีกรายหนึ่งในเมืองมัณฑะเลย์ กล่าวว่า ทีมกู้ภัยจำนวนมากที่ปฏิบัติงานอยู่ในมัณฑะเลย์ค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทีมกู้ภัยต่างชาติเดินทางกลับประเทศหลังจากภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตเสร็จสิ้นลงแล้ว และเขายังกล่าวว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยท้องถิ่นส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการเก็บกวาดซากปรักหักพังและให้ความช่วยเหลือ

เมื่อต้นเดือน โครงการพัฒนาแห่งสประชาชาติ (UNDP) ได้ประเมินว่าเศษซากจากแผ่นดินไหวอย่างน้อย 2.5 ล้านตัน หรือประมาณ 125,000 คันรถบรรทุก จะต้องถูกขนย้ายออกไป โดยประเมินจากการวิเคราะห์ภาพจากดาวเทียมระยะไกล

โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) กล่าวในคำแถลงว่าเจ้าหน้าที่ของโครงการและสมาคมวิศวกรรมพม่า กำลังร่วมมือกันประเมินความเสียหายของอาคารจำนวนมากในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

ในกรุงเนปีดอ เจ้าหน้าที่กู้ภัยเกือบทั้งหมดหยุดงานช่วยเหลือ ขณะที่อาคารของรัฐบาลที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวยังไม่ได้รับการซ่อมแซม และยังคงอยู่ในสภาพนั้น ส่วนในเขตพื้นที่อยู่อาศัย ประชาชนเก็บกวาดซากปรักหักพังด้วยตนเองจนเกือบเสร็จเรียบร้อยแล้ว

รายงานของเมียนมาร์อาลินกล่าวว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวกับคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันศุกร์ว่า ผังเมืองของกรุงเนปีดอจะได้รับการออกแบบใหม่

เนปีดอกลายเป็นเมืองหลวงของพม่าในปี 2549 หลังจากก่อสร้างขึ้นด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาล จากพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งตัดไม้และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวนา เมืองหลวงใหม่ของประเทศแห่งนี้มีความโดดเด่นจากอาคารรัฐที่มีขนาดใหญ่โตอลังการ และถนนกว้างหลายเลนแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่.








กำลังโหลดความคิดเห็น