MGR ออนไลน์ - แผนการสร้างคลองเชื่อมระหว่างเมืองหลวงกับชายฝั่งของกัมพูชาเพื่อยุติการพึ่งพาท่าเรือของเวียดนาม ได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับความสามารถในการดำรงอยู่ทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ฮุนเซน อดีตผู้นำกัมพูชา และนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ลูกของเขา ได้ร่วมกันรณรงค์เพื่อระดมการสนับสนุนโครงการคลองฟูนันเตโช ที่พวกเขากล่าวว่าโครงการนี้สะท้อนถึงจิตวิญญาณของชาติและปลุกเร้าให้เกิดความภาคภูมิใจในชาติ
แต่ขณะเดียวกัน โครงการนี้ยังเผยให้เห็นรอยร้าวที่ซ่อนอยู่ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและกัมพูชา ที่ชะตากรรมของทั้งสองประเทศเกี่ยวพันกันมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะตั้งแต่เวียดนามเอาชนะเขมรแดงของกัมพูชาได้ในช่วงต้นปี 2522
ระหว่างศตวรรษที่ 1 ถึงศตวรรษที่ 6 อังกอร์บอเรย (Angkor Borei) ที่อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางใต้ราว 100 กิโลเมตร เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรฟูนัน ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเวียดนาม ไทย และกัมพูชาในปัจจุบัน
การนำชื่ออาณาจักรโบราณมาใช้สำหรับคลองฟูนันเตโชนั้น เป็นการอ้างอิงถึงวัฒนธรรมและความเจริญรุ่งเรืองของขอม ซึ่งในยุคนั้นรุ่งเรืองเหนือเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก
หากโดยสารเรือเพียง 10 นาทีจากอังกอร์บอเรยในปัจจุบัน ท่ามกลางบึงน้ำ มีชุมชนขนาดเล็กตั้งอยู่ ที่มีชาวประมงเวียดนามอาศัยอยู่ประมาณ 10 หลังคาเรือน หนึ่งในนั้นคือ เหวียน จิง เกื่อง มาจากจ.อานซยาง ห่างออกไปไม่ถึง 10 กิโลเมตรจากชายแดนเวียดนาม เกื่องกล่าวว่าเขาได้ยินข่าวเกี่ยวกับโครงการคลองดังกล่าวแต่ไม่รู้ข้อมูลมากนัก
“มีคนบอกผมว่าเราอาจต้องเก็บของกลับอานซยาง ออกจากพื้นที่ตรงนี้เพื่อสร้างคลอง แต่เราไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน ที่นี่คือกัมพูชา ดินแดนของพวกเขา กฎของพวกเขา เราไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากปฏิบัติตาม” เกื่อง กล่าว
“เรารู้สึกขอบคุณที่พวกเขาให้เราอยู่ที่นี่เพื่อจับปลา ชาวกัมพูชาปฏิบัติต่อเราเป็นอย่างดี และเราสามารถเดินทางไปมาได้โดยไม่มีปัญหาอะไร” เกื่อง กล่าวเสริม
แต่ในพื้นที่ที่ห่างไปจากชายแดนที่ไม่เข้มงวด คลองฟูนันเตโชได้ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายปี โดยจีนน่าจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งนี้
เวียดนามร้องเรียนเกี่ยวกับการขาดข้อมูลเกี่ยวกับโครงการขุดคลองมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเชื่อมเมืองหลวงของกัมพูชากับท่าเรือที่วางแผนไว้บนชายฝั่ง และยุติการพึ่งพาท่าเรือทางตอนใต้ของเวียดนาม
กระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามเรียกร้องให้กัมพูชาจัดทำการประเมินผลกระทบต่อการไหลของน้ำและความสมดุลทางนิเวศของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงหลายต่อหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ของกัมพูชาตอบสนองข้อเรียกร้องจากฝ่ายเวียดนามว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องทำ
กัมพูชากล่าวว่าพวกเขาเพียงแค่ต้องแจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเท่านั้น ที่เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล 4 ประเทศ ที่รับผิดชอบการจัดการแม่น้ำร่วมกัน เนื่องจากโครงการไม่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงโดยตรง แต่เชื่อมต่อกับแม่น้ำบาสักที่กัมพูชาถือว่าเป็นแม่น้ำสาขา ไม่ใช่แม่น้ำโขงสายหลัก
แม่น้ำบาสักแยกออกจากแม่น้ำโขงทางใต้ของกรุงพนมเปญ จากนั้นไหลคดเคี้ยวไปทางใต้ ขนานไปกับแม่น้ำโขงเข้าสู่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำและทะเลจีนใต้ คลองนี้จะเชื่อมแม่น้ำโขงกับแม่น้ำบาสัก แล้วไหลจากแม่น้ำบาสักไปทางตะวันตกออกสู่ชายฝั่งกัมพูชา
กัมพูชายืนกรานว่าคลองจะไม่ลดกระแสการไหลของแม่น้ำโขงสู่พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เป็นแหล่งปลูกข้าวหลักของเวียดนาม และผลกระทบต่อพื้นที่ปลายน้ำจะมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ศูนย์ Stimson ในวอชิงตัน ปฏิเสธจุดยืนของกัมพูชาในรายงานเกี่ยวกับคลองว่า ควรเปลี่ยนการกำหนดช่วงแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำสาขาเป็นแม่น้ำสายหลัก เพื่อเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือที่กำหนดไว้สำหรับโครงการแม่น้ำสายหลัก
ด้านนักวิทยาศาสตร์ชาวเวียดนามมีความเห็นไม่ตรงกันว่าคลองดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำในแม่น้ำโขงมากเพียงใด เช่น เล แอ็ง ต่วน จากมหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ คาดว่าการไหลของน้ำอาจลดลงถึง 50% ในช่วงฤดูแล้ง แต่อีกส่วนหนึ่ง เช่น โต วัน เจื่อง ผู้เชี่ยวชาญอิสระกล่าวว่าการประเมินของต่วนนั้นเกินจริง และได้ให้ประมาณการที่ต่ำกว่ามาก โดยอยู่ที่ 4% เท่านั้น
แต่มีสิ่งหนึ่งที่พวกเขาดูเหมือนจะเห็นพ้องกันคือ ความจำเป็นในการปรึกษาหารือ และข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อปกป้องพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนจำนวน 17.4 ล้านคน และได้รับผลกระทบจากการรุกล้ำของน้ำเค็มอยู่แล้ว
แม้ว่าสื่อจะมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความสามารถในการทำกำไรของโครงการเป็นส่วนใหญ่ แต่บรรดานักวิเคราะห์ชาวเวียดนามกลับพิจารณาถึงผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการเข้ามามีบทบาทของจีนในภูมิภาคนี้
สุน จันทอล รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา พบหารือกับ เจิ้ง ซานเจีย เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รับผิดชอบนโยบายการพัฒนาในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนก.ย. 2567 เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของจีนในกัมพูชา รวมถึงคลองฟูนันเตโช และเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการจะแล้วเสร็จตามเวลา หนังสือพิมพ์ขแมร์ไทม์ส รายงาน
เหวียน มีง กวาง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ กล่าวว่าคลองดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงภาคใต้ของกัมพูชา ที่จีนมีผลประโยชน์ทางทหารอยู่แล้ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์
“หลักฐานเบื้องต้นเผยให้เห็นว่าคลองฟูนันเตโช เป็นเพียงเฟสแรกของแผนอันทะเยอทะยาน” อาจารย์ชาวเวียดนามกล่าวในบทการวิเคราะห์ล่าสุดที่เขาเป็นผู้เขียนร่วม
“การขยายเมือง การปรับปรุงการเกษตร กิจกรรมการทำเหมือง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในเมืองแกบ จะเกิดขึ้นตามหลังคลองดังกล่าว ที่น่าจะเปิดทางให้กับเขตเศรษฐกิจที่จีนสนับสนุนและจุดเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์ทางทหารในภาคใต้ของกัมพูชา”
นักวิเคราะห์โต้แย้งว่าหากศูนย์กลางการพัฒนาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง กองทัพเรือจีนจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรและห่วงโซ่อุปทานทางทหารได้ที่ฐานทัพเรือเรียม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับจ.สีหนุวิลล์ ได้
“ในทางกลับกัน สิ่งนี้จะแปลได้ว่าเป็นความก้าวหน้าสำหรับฐานทัพทหารโดยพฤตินัยของจีนในอ่าวไทย” เหวียน มีง กวาง กล่าว
สื่อของเวียดนามส่วนใหญ่รายงานเกี่ยวกับคลองดังกล่าวตามข้อเท็จจริง ที่สะท้อนถึงการเรียกร้องข้อมูลที่วัดได้และเป็นทางการและความโปร่งใส
แต่อย่างไรก็ตาม ภาพในโลกโซเชียลมีเดียในเวียดนามนั้นค่อนข้างแตกต่าง ที่บรรดาผู้รักชาติได้โจมตีฮุนเซนบนโพสต์ TikTok ของเขาด้วยความเห็นที่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย
ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียรายหนึ่งกล่าวว่า “เวียดนามเสียสละเลือดเนื้อเพื่อสันติภาพในกัมพูชา” โดยอ้างถึงการรุกรานกัมพูชาของเวียดนามในช่วงปลายปี 2521 เพื่อขับไล่เขมรแดง
กองกำลังของเวียดนามยังคงอยู่ในกัมพูชาเป็นเวลา 10 ปีเพื่อต่อสู้กับเขมรแดงและกองโจรอื่นๆ และรักษารากฐานของรัฐบาลกัมพูชาที่ยังอยู่ในอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้
“อย่าลืมอาสาสมัครเวียดนามหลายหมื่นคนที่เสียชีวิตในกัมพูชา” โพสต์บนโซเชียลมีเดียระบุ ที่สะท้อนความไม่พอใจของชาวเวียดนามเกี่ยวกับวิธีที่ฮุนเซนเพิกเฉยต่อความกังวลของชาวเวียดนามเกี่ยวกับโครงการของเขา
“อกตัญญู” “หุ่นเชิดจีน” และ “คนทรยศ” เป็นคำที่นักวิจารณ์บนโซเชียลมีเดียของเวียดนามใช้โจมตีฮุนเซน
ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและกัมพูชาอาจกลายเป็นประเด็นทางการเมืองโดยเฉพาะในกัมพูชาที่ความเคียดแค้นต่อความอยุติธรรมและการพิชิตดินแดนสามารถถูกปลุกปั่นให้กลายเป็นความรุนแรงได้
พรรคการเมืองต่างๆ ของกัมพูชาต่างใช้ไพ่ความรู้สึกต่อต้านเวียดนามเสริมความชอบธรรมและการสนับสนุน และฮุนเซนมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อประเด็นการเมืองดังกล่าว เนื่องจากเขาไต่เต้าขึ้นมาในรัฐบาลที่เวียดนามแต่งตั้งขึ้น นักวิเคราะห์ระบุ
เวียดนามและรัฐบาลพนมเปญเป็นศัตรูตัวฉกาจของจีนตลอดช่วงทศวรรษ 1980 แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ในปี 2558 กระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาได้ส่งบันทึกทางการทูตเรียกร้องให้เวียดนามหยุดการรุกล้ำใดๆ ในพื้นที่พิพาทระหว่างสองประเทศ
ปัจจุบัน ฮุนเซนและพรรคประชาชนกัมพูชาที่เป็นพรรครัฐบาล เป็นพันธมิตรกับจีนอย่างเหนียวแน่น และความขัดแย้งเรื่องคลองได้เผยให้เห็นแนวทางที่แข็งกร้าวต่อเวียดนามอย่างน่าประหลาดใจ
ฮุนเซน วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรเก่าอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยตอบโต้การตั้งคำถามของเวียดนามเกี่ยวกับคลองจากคำกล่าวในสุนทรพจน์ที่ระบุว่าเวียดนามกำลังสร้างเขื่อนจำนวนมากเพื่อปกป้องพืชผลของตนเองและเขื่อนเหล่านี้กระทบกัมพูชา
กัมพูชาไม่ด้อยไปกว่าเวียดนาม กัมพูชารู้วิธีปกป้องผลประโยชน์ของตน เวียดนามไม่จำเป็นต้องสนใจ ฮุนเซนระบุ
ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนฝั่งเวียดนามต่างจดจำสงครามที่หล่อหลอมความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านริมแม่น้ำที่ผูกชะตากรรมของพวกเขาไว้ได้
“เราอยู่ร่วมแม่น้ำสายเดียวกัน แน่นอนว่าเรามีความห่วงใย แต่เป็นความรับผิดชอบของกัมพูชาที่จะแจ้งให้เราทราบว่าพวกเขาจะทำอะไร” เล วัน อาน อายุ 63 ปี ในจ.อานซยาง กล่าว
อดีตนายทหารกล่าวว่าปริมาณการไหลของน้ำที่ลดลงจะเป็นเรื่องหายนะ
“ผมหวังว่าพรรคและรัฐบาลเวียดนามจะป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น” เล วัน อาน กล่าว
ในหมู่บ้านบาชุก มีอนุสรณ์สถานเป็นเครื่องเตือนใจถึงความโหดร้ายเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน เมื่อกองกำลังเขมรแดงโจมตีลึกเข้าไปในเวียดนามในปี 2521 ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตมากกว่า 3,000 คน
เล วัน อาน ที่ต่อสู้ในสงครามชายแดนเวียดนาม-กัมพูชาที่เกิดจากการสังหารหมู่ กล่าวว่าเขาไม่ได้แค้นเคืองชาวกัมพูชาเลย
“พวกเขาเหมือนกันกับเรา” เขากล่าว และเสริมว่าเขาไม่ไว้ใจรัฐบาลกัมพูชา โดยเฉพาะเวลานี้ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน.