MGR Online - ทีมวิศวกรจากอินเดีย ร่วมตรวจประเมินสภาพสะพานอังวะที่พังถล่มลงแม่น้ำอิรวดีจากแผ่นดินไหว ชี้เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของเส้นทางการค้าอินเดีย-เมียนมา รวมถึงทางหลวง 3 ประเทศ จากชายแดนแม่สอด ข้ามเข้าสู่รัฐมณีปุระ
วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน 2568 India in Myanmar ซึ่งเป็นเพจทางการของสถานเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำเมียนมา รายงานว่า ทีมทหารช่างจากอินเดีย ซึ่งเป็นวิศวกรผู้ชำนาญงานด้านป้องกันภัยอันตรายและการรื้อถอน ได้ถูกส่งมาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงก่อสร้างของเมียนมา เพื่อตรวจสอบ ประเมินสภาพความเสียหายของสะพานสะกายหรือสะพานอังวะเก่า สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำอิรวดีอายุเกือบ 100 ปี ซึ่งพังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในรายงานข่าว ยังไม่มีข้อสรุปว่าสะพานแห่งนี้จะสามารถซ่อมแซมได้หรือไม่ หรือต้องรื้อถอนทิ้งลงทั้งหมด
สะพานสะกายหรือสะพานอังวะเก่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2477 ตั้งแต่ยุคที่พม่ายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เคยถูกทำลายมาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพอังกฤษเป็นฝ่ายทำลายทิ้งเองขณะล่าถอย ถอนทัพออกจากพม่า แต่หลังพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว สะพานอังวะก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2497
สะพานแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองอังวะ และห่างจากตัวเมืองมัณฑะเลย์ลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ12 กิโลเมตร บริเวณใกล้ปากแม่น้ำมิดแหง่ที่บรรจบกับแม่น้ำอิรวดี ฝั่งตรงข้ามเป็นเมืองสะกาย เมืองเอกของภาคสะกาย ทางตอนเหนือขึ้นไปจากสะพานอังวะเก่าประมาณ 600 เมตร เป็นที่ตั้งของสะพานอิรวดี หรือสะพานยะดะนาโบ่ง หรือสะพานอังวะใหม่ ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2551
ที่ตั้งของสะพานอังวะทั้งเก่าและใหม่ ถือเป็นศูนย์กลางคมนาคมที่สำคัญในตอนกลางของเมียนมา เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภาคและรัฐต่างๆอีกหลายแห่ง กับกรุงมัณฑะเลย์ เนปิดอ และย่างกุ้ง
อินเดียให้ความสำคัญกับสะพานแห่งนี้ เพราะเป็นจุดเชื่อมเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียและเมียนมา ผ่านทางหลวงเอเซียหมายเลข 1(AH 1) และทางด่วนย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ ข้ามแม่น้ำอิรวดี ไปยังด่านชายแดนตะมู-โมเรห์ ประตูการค้าชายแดนที่สำคัญของอินเดีย-เมียนมา
นอกจากนี้ สะพานอังวะยังเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของโครงการทางด่วน 3 ประเทศ ไทย-เมียนมา-อินเดีย ที่เป็นเส้นทางต่อเนื่องจากระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ EWEC(East-West Economic Corridor) ระยะทางประมาณ 1,600 กิโลเมตร
ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกมีจุดเริ่มจากชายฝั่งทะเลที่ท่าเรือดานัง ของเวียดนาม ทางทิศตะวันออก ผ่านแขวงสะหวันนะเขต ของลาว ข้ามแม่น้ำโขงมายังจังหวัดมุกดาหาร ต่อไปออกชายแดนไทยด้านตะวันตกที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ส่วนทางด่วน 3 ประเทศ มีจุดเริ่มต้นจากแม่สอด ข้ามไปยังเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตามทางหลวง AH 1 สู่เมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ ผ่านภาคพะโค กรุงเนปิดอ มัณฑะเลย์ ข้ามแม่น้ำอิรวดีที่สะพานอังวะ เพื่อต่อไปยังด่านชายแดนตะมู-โมเรห์ เข้าสู่รัฐมณีปุระ ของอินเดีย
รัฐบาลอินเดีย เมียนมา และไทย มีข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ที่จะสร้างทางด่วนเชื่อมชายแดนไทยผ่านเมียนมาไปยังอินเดีย เริ่มจากในปี 2563 รัฐบาลอินเดียสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างและซ่อมแซมสะพานในเมียนมาจำนวน 73 แห่ง ที่ถูกสร้างไว้ตั้งแต่ยุคอาณานิคม
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการรัฐประหารในเมียนมารวมถึงการที่กองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเงา(PDF) จับมือกับทหารบางกลุ่มของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) ปิดทางหลวง AH 1 ช่วงจากบ้านปางกาน(ติงกานหญี่หน่อง) ไปยังเมืองกอกะเร็ก ในรัฐกะเหรี่ยง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ทำให้การก่อสร้างทางด่วน 3 ประเทศ ต้องหยุดชะงักลงไปโดยสิ้นเชิง
วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ดร.สุพรหมยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อินเดีย ได้มาเป็นประธานร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา(MGC) ที่กรุงเทพฯ หนึ่งในหัวข้อสำคัญของการประชุมนี้ คือเร่งรัดโครงการทางด่วน 3 ประเทศ และเร่งหาบทสรุปข้อตกลงยานยนต์ 3 ประเทศ
วันที่ 10 มกราคม 2568 สถานเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำเมียนมา ร่วมกับหอการค้าอินเดีย-เมียนมา(India-Myanmar Chamber of Commerce : IMCC) จัดการประชุมใหญ่นักธุรกิจชาวอินเดียและเมียนมา ประจำปี 2568 ขึ้น ที่โรงแรมแพนแปซิฟิค ในกรุงย่างกุ้ง มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 300 คน หัวข้อหนึ่งที่มีการพูดคุยกันในที่ประชุมนี้ คือการเดินหน้าโครงการทางด่วน 3 ประเทศ ไทย-เมียนมา-อินเดีย