xs
xsm
sm
md
lg

UN ประณามการโจมตีของกองทัพพม่าแม้ประกาศหยุดยิงหลังแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาพของโรงเรียนประจำหมู่บ้านในเมืองกอลิน เขตสะกาย หลังถูกกองทัพโจมตีทางอากาศเมื่อวันพฤหัสฯ.
เอเอฟพี - สำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้ประณามการโจมตีของกองทัพพม่า แม้ว่าจะมีการประกาศหยุดยิงหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อเดือนที่ผ่านมา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,600 คนก็ตาม

“ในขณะที่ควรมุ่งเน้นว่าการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงพื้นที่ภัยพิบัติ แต่กองทัพกลับเปิดฉากโจมตีแทน” ราวินา ชัมดาซานี โฆษกสำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ระบุในคำแถลง

โฆษกสำนักงานระบุว่า โวลเคอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้เรียกร้องให้กองทัพขจัดอุปสรรคทั้งหมดที่ขัดขวางการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และยุติการปฏิบัติการทางทหาร

ความขัดแย้งหลายฝ่ายเกิดขึ้นทั่วพม่าตั้งแต่ปี 2564 เมื่อกองทัพของพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี

หลังจากมีรายงานว่าเกิดการปะทะเป็นระยะ แม้กระทั่งหลังจากเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่จนถึงขณะนี้ทราบว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,645 คน รัฐบาลทหารได้เข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านเรียกร้องการหยุดยิงชั่วคราวเมื่อสัปดาห์ก่อนเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดส่งความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์

แต่โฆษกของสำนักงานสิทธิมนุษยชนระบุว่าตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหว กองกำลังทหารของรัฐได้ก่อเหตุโจมตีแล้วมากกว่า 120 ครั้ง และการโจมตีมากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นหลังประกาศหยุดยิงที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 เม.ย.

สำนักงานสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติได้ระบุว่าการโจมตีส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการโจมตีทางอากาศและการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ รวมถึงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวด้วย

“มีรายงานการโจมตีหลายครั้งในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ ซึ่งหลายครั้งดูเหมือนจะเป็นการโจมตีแบบไม่เลือก และละเมิดหลักความสมส่วนตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” ชัมดาซานี กล่าว

ชัมดาซานียังระบุว่าพื้นที่ที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวในสะกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายต่อต้านกองทัพ ต้องพึ่งพาการตอบสนองของชุมชนในพื้นที่เพื่อค้นหาและกู้ภัย และตอบสนองความต้องการพื้นฐาน

“เห็นได้ชัดว่าความพยายามเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม” ชัมดาซานี กล่าว และเรียกร้องความพยายามร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด

“เราเรียกร้องให้กองทัพประกาศนิรโทษกรรมเต็มรูปแบบแก่ผู้ต้องขัง ที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่เดือนก.พ. 2564 รวมทั้ง อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และประธานาธิบดีอู วิน มี้น”

กลไกการสืบสวนอิสระเพื่อพม่าของสหประชาชาติ (IIMM) ยังประณามการโจมตีดังกล่าวด้วย

“ในขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าค้นหาผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวเมื่อเดือนก่อน แต่กองทัพยังคงโจมตีทางอากาศในมัณฑะเลย์ สะกาย และพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ทำให้พลเรือนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ” IIMM ระบุในคำแถลง

นิโคลัส โคอุมเจียน หัวหน้าคณะสอบสวน กล่าววิจารณ์การโจตีทางอากาศอย่างเป็นระบบและทวีความรุนแรงมากขึ้นของกองทัพพม่าในทั่วประเทศ ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต การทำลายล้าง และการอพยพออกจากพื้นที่ และสร้างความหวาดกลัวให้ชุมชนต่างๆ

โคอุมเจียนแสดงความเห็นดังกล่าวในวันศุกร์ที่ถือเป็นวันครบรอบ 2 ปี การโจมตีของกองทัพในเขตสะกาย การโจมตีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดภายในครั้งเดียวนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร

การโจมตีทางอากาศของกองทัพที่หมู่บ้านปาซีจี เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 155 คน รวมถึงเด็กจำนวนมาก

“การโจมตีทางอากาศที่รวมทั้งการใช้โดรนและการใช้อาวุธเคมี เป็นเครื่องหมายของความโหดร้ายรุนแรงของความขัดแย้งในพม่า และเกิดบ่อยครั้งขึ้นนับตั้งแต่การโจมตีที่ปาซีจี” คำแถลงของ IIMM ระบุ.

ไฟไหม้วัดแห่งหนึ่งในรัฐชานเหนือหลังถูกกองทัพโจมตีทางอากาศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น