xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติเดินทางเยือนพม่าครั้งแรกหลังแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จูลี บิชอป ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ (ขวา) ขณะพบหารือกับเจ้าหน้าที่พม่า.
เอพี - ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยกิจการพม่าเดินทางเยือนประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยได้เข้าพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าในวันพุธ (9) ในขณะที่ประเทศกำลังฟื้นตัวจากแผ่นดินไหวที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,600 คน

จูลี บิชอป ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติได้พบหารือกับ ตาน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ในบริเวณที่ตั้งเต็นต์ชั่วคราวนอกอาคารของกระทรวงที่ได้รับความเสียหายในกรุงเนปีดอ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ตามการรายงานของสถานีโทรทัศน์ MRTV

แผ่นดินไหวครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักใน 6 เขตและรัฐ ทำให้หลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้า โทรศัพท์ หรือการเชื่อมต่อมือถือ และถนนและสะพานได้รับความเสียหาย ที่ทำให้ความทุกข์ยากที่เกิดจากสงครามกลางเมืองซึ่งยังคงดำเนินอยู่ของประเทศยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก

ซอ มิน ตุน โฆษกของรัฐบาลทหารพม่ากล่าวเมื่อค่ำวันพุธว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวอยู่ที่ 3,649 คน บาดเจ็บ 5,018 คน และสูญหาย 145 คน

แผ่นดินไหวทำลายบ้านเรือน 48,834 หลัง วัดและสำนักชี 3,094 แห่ง โรงเรียน 2,171 แห่ง อาคารสำนักงาน 2,171 แห่ง สะพาน 148 แห่ง และเจดีย์ 5,275 แห่ง ตามคำกล่าวของพล.อ.โซ วิน รองประธานสภาทหารที่ปกครองประเทศ

รายงานของ MRTV เมื่อคืนวันพุธระบุว่า บิชอปและเจ้าหน้าที่พม่าได้หารือเกี่ยวกับการประสานงานระหว่างพม่าและสหประชาชาติเรื่องความช่วยเหลือต่อผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

บิชอป อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลียและปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษว่าด้วยกิจการพม่าของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ เมื่อเดือนเม.ย. 2567

การแต่งตั้งเธอให้เป็นผู้แทนพิเศษถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มต่อต้านการปกครองของทหารในพม่าที่กล่าวว่าเธอมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทจีนที่มีผลประโยชน์ในพม่า ที่ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเธอปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ทั้งนี้ จีน รวมถึงรัสเซีย เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของกองทัพพม่า ขณะที่โลกตะวันตกส่วนใหญ่ปฏิเสธและดำเนินมาตรการคว่ำบาตรกับนายพลเหล่านี้จากการโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงการใช้กำลังอย่างโหดร้ายรุนแรงในสงครามกับกลุ่มต่อต้านเรียกร้องประชาธิปไตยและกองกำลังชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

แม้ว่ารัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้านติดอาวุธจะประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเป็นระยะเวลาชั่วคราวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูหลังแผ่นดินไหว แต่การสู้รบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามรายงานของสื่ออิสระและพยาน

พม่าอยู่ในความยุ่งเหยิงวุ่นวานนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2564 ที่กองทัพพม่าขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี และปราบปรามการประท้วงต่อต้านการกระทำของกองทัพอย่างรุนแรง หลังจากกองกำลังรักษาความมั่นคงใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสงบ โดยฝ่ายต่อต้านการปกครองของทหารบางส่วนได้หันไปจับอาวุธต่อสู้

แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายอยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลงไปอีก โดยมีผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นเนื่องจากสงคราม และเกือบ 20 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือก่อนที่เกิดแผ่นดินไหว ตามการรายงานของสหประชาชาติ

รายงานสถานการณ์ที่ออกในคืนวันจันทร์โดยสำนักงานเพื่อการประสานงานกิจการด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ ระบุว่า ประชาชนมากกว่า 17.2 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และต้องการอาหาร น้ำดื่ม การดูแลสุขภาพ เงินช่วยเหลือ และที่พักพิงฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าบิชอปจะพบหารือกับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า หรือซูจี ผู้นำพลเรือนที่ถูกกองทัพโค่นอำนาจ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในกรุงเนปีดอ หรือไม่

ซูจี อายุ 79 ปี กำลังรับโทษจำคุกรวม 27 ปี หลังถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหลายคดี รัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะให้เธอพบกับบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผู้แทนพิเศษจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พม่าเป็นสมาชิกอยู่.
กำลังโหลดความคิดเห็น