xs
xsm
sm
md
lg

ตำหนักน้ำยุค "กอนบอง" ที่ถูกฝังนานนับร้อยปี ปรากฏขึ้นหลังแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตำหนักน้ำในยุคราชวงศ์กอนบองที่ถูกฝั่งอยู่ใต้ดินนานนับร้อยปี ได้ปรากฏขึ้นในรอยแตกที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวใหญ่ในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568
MGR Online - แผ่นดินไหวในพื้นที่ตอนกลางของเมียนมา นอกจากทำลายชีวิตและทรัพย์สินไปจำนวนมหาศาลแล้ว อีกด้านหนึ่ง แรงสั่งสะเทือนยังทำให้โบราณสถานที่ถูกฝังอยู่ใต้ดินมานานนับร้อยปี ได้ปรากฏขึ้นให้ผู้คนได้พบเห็นอีกครั้ง

ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชุมชนออนไลน์ของเมียนมาต่างพากันเผยแพร่ภาพและคลิปข่าวการพบซากโบราณสถานซึ่งถูกฝั่งอยู่ใต้ดินมานานนับร้อยปี ในรอยแตกของผืนดินที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพื้นที่ตอนกลางของเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568


ซากโบราณสถานแห่งนี้ถูกพบในเมืองตะดาอู ห่างจากตัวเมืองมัณฑะเลย์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร และอยู่ห่างทางทิศใต้ของตัวเมืองอังวะประมาณ 6 กิโลเมตร

จากข้อมูลที่บันทึกไว้ในสมุดข่อย นักโบราณคดีของเมียนมาเชื่อว่าซากโบราณสถานแห่งนี้ เป็นตำหนักน้ำที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์กอนบอง ซึ่งได้ใช้เมืองรัตนปุระอังวะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรพม่า อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงที่หาบทสรุปที่ลงตัวไม่ได้ว่า ตำหนักน้ำแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในยุคต้น หรือยุคกลางของราชวงศ์กอนบอง


เมืองรัตนปุระอังวะเป็นเมืองเก่าแก่ที่ถูกใช้เป็นเมืองหลวงของพม่ามาถึง 5 ครั้ง ในช่วงกว่า 360 ปีมานี้ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์อังวะ ราชวงศ์ตองอู และราชวงศ์คอนบอง(พ.ศ.2295-2428)

ในสมัยราชวงศ์กอนบอง ได้ใช้รัตนปุระอังวะเป็นเมืองหลวงถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในยุคของพระเจ้ามังระ กษัติรย์ลำดับที่ 3 ในช่วงปี 2308-2326 ครั้งที่ 2 ในยุคของพระเจ้าจักกายแมง กษัตริย์ลำดับที่ 7 ช่วงปี 2364-2385 แต่หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2382 เมืองรัตนปุระอังวะได้รับความเสียหาย พระเจ้าจักกายแมงจึงได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อมรปุระ และรัตนปุระอังวะได้ถูกทิ้งให้กลายเป็นเมืองร้างในเวลาต่อมา

ซากโบราณสถานที่พบครั้งนี้เป็นส่วนของฐานรากและบันได เหตุผลที่นักโบราณคดีเชื่อว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นตำหนักน้ำ เพราะสิ่งปลูกสร้างที่พบตรงกับแบบร่างที่นักโบราณคดีถอดออกมาจากข้อมูลที่บันทึกไว้ในสมุดข่อย นอกจากนี้ เมืองตะดาอูยังตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำมิดแหง่ ที่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำอิระวดี ซึ่งกษัตริย์พม่าในอดีตใช้เป็นเส้นทางเดินทัพและเส้นทางคมนาคม





แบบร่างของตำหนักน้ำที่นักโบราณคดีถอดข้อมูลออกมาจากสมุดข่อย(ภาพจากเฟซบุ๊ค U Pauk Pauk)




กำลังโหลดความคิดเห็น