รอยเตอร์ - สหประชาชาติเรียกร้องให้ทั่วโลกระดมความช่วยเหลือต่อพม่าที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,354 คน ขณะที่อดีตเจ้าหน้าที่ USAID กล่าวว่าทีมช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของสหรัฐฯ ได้รับแจ้งว่าพวกเขากำลังจะตกงานหลังจากเดินทางถึงเขตภัยพิบัติ
สื่อของรัฐรายงานว่า นอกจากผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. แล้ว ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 4,850 คน และสูญหาย 220 คน
ระหว่างการเยือนเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของพม่า ที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ทอม เฟล็ตเชอร์ หัวหน้าฝ่ายบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติ ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ
“การทำลายล้างนั้นน่าตกใจมาก ทั้งสูญเสียชีวิต บ้านเรือนถูกทำลายเสียหาย การดำรงชีวิตได้รับผลกระทบ แต่ความสามารถในการปรับตัวนั้นน่าเหลือเชื่อ โลกต้องร่วมกันสนับสนุนชาวพม่า” ทอม เฟล็ตเชอร์ โพสต์ลงใน X
เพื่อนบ้านของพม่าเช่น จีน อินเดีย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์และหน่วยกู้ภัยไปช่วยเหลือความพยายามฟื้นฟูในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ราว 28 ล้านคนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
จนกระทั่งไม่นานนี้ สหรัฐฯ ที่เคยเป็นผู้บริจาคด้านมนุษยธรรมรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างน้อย 9 ล้านดอลลาร์ต่อพม่าเพื่อสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า การยุติโครงการช่วยเหลือต่างประเทศส่งผลกระทบต่อการตอบสนอง
เจ้าหน้าที่ 3 คน ของหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ที่เดินทางไปพม่าหลังจากเกิดแผ่นดินไหวได้รับแจ้งว่าจะตกงาน มาเซีย หว่อง อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ USAID กล่าวกับรอยเตอร์
“ทีมงานนี้ทำงานอย่างหนัก โดยมุ่งเน้นที่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ การได้รับข่าวการเลิกจ้างที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ จะไม่ทำให้เสียกำลังใจได้อย่างไร” หว่อง ระบุ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่ารัฐบาลทหารพม่าได้จำกัดการส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ที่ชุมชนต่างๆ ไม่ได้สนับสนุนการปกครองของกองทัพ และสำนักงานสหประชาชาติยังกล่าวอีกว่ากำลังสืบสวนรายงานการโจมตี 53 ครั้งของรัฐบาลทหารต่อฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการโจมตีทางอากาศ 16 ครั้ง ที่เกิดขึ้นหลังจากมีการประกาศหยุดยิงเมื่อวันพุธ
Free Burma Rangers กลุ่มบรรเทาทุกข์กล่าวกับรอยเตอร์ว่า กองทัพได้ทิ้งระเบิดลงในพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยงและรัฐชานเมื่อวันพฤหัสฯ และวันศุกร์ แม้ว่าจะมีการประกาศหยุดยิง เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 คน
เดวิด ยูแบงก์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มกล่าวว่า เหยื่อการโจมตียังรวมถึงพลเรือน และมีการโจมตีทางทหารเกิดขึ้นอย่างน้อย 7 ครั้งนับตั้งแต่มีการหยุดยิง
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ได้ยืนยันกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ว่ารัฐบาลทหารมีแผนที่จะจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมในเดือนธ.ค. เมื่อทั้งสองฝ่ายได้พบหารือกันที่กรุงเทพฯ สื่อของทางการพม่ารายงานในวันเสาร์
มิน อ่อง หล่าย เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวันศุกร์ ที่เขายังได้แยกพบหารือกับผู้นำของไทย เนปาล ภูฏาน และศรีลังกา
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียระบุว่า ผู้นำอินเดียได้เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในสงครามกลางเมืองของพม่าหลังแผ่นดินไหวเป็นการถาวร และกล่าวว่าการเลือกตั้งจะต้องครอบคลุมและน่าเชื่อถือ
บรรดานักวิจารณ์ต่างเย้ยหยันว่าการเลือกตั้งที่วางแผนไว้นี้เป็นเพียงเรื่องหลอกลวง เพื่อให้เหล่านายพลยังอยู่ในอำนาจผ่านตัวแทน
นับตั้งแต่โค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจีในปี 2564 กองทัพพยายามอย่างหนักที่จะบริหารประเทศ ที่ทำให้เศรษฐกิจและบริการพื้นฐาน รวมถึงการดูแลสุขภาพ อยู่ในสภาพย่ำแย่ และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกจากแผ่นดินไหว
สหประชาชาติกล่าวว่าสงครามกลางเมืองท่ีเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารทำให้ผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น ความไม่มั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม.