เอเอฟพี - ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเดินทางถึงกรุงเทพฯ วันนี้ (3) เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดระดับภูมิภาค ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในพม่าพุ่งเกิน 3,000 คน
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ที่เป็นการรวมกลุ่มของ 7 ประเทศรอบอ่าวเบงกอล โดยเขาจะหารือเกี่ยวกับการตอบสนองต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดเมื่อสัปดาห์ก่อน
ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเดินทางถึงโรงแรมแชงกรีลาในกรุงเทพฯ ที่เป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดในวันศุกร์ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ตามการรายงานของนักข่าวเอเอฟพี
หลายประเทศได้ส่งความช่วยเหลือและทีมกู้ภัยไปยังพม่านับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหว แต่โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักและการสื่อสารที่ไม่เสถียร รวมถึงสงครามกลางเมืองที่ยังดำเนินอยู่ เป็นอุปสรรคขัดขวางความพยายามช่วยเหลือบรรเทาทุกข์
พม่าติดพันอยู่ในความขัดแย้งหลายฝ่ายมาตั้งแต่ปี 2564 เมื่อกองทัพของมิน อ่อง หล่าย เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี
หลังจากมีรายงานเหตุปะทะแม้กระทั่งหลังเกิดแผ่นดินไหวได้ไม่นาน รัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้านได้เรียกร้องการหยุดยิงชั่วคราวในวันพุธ (2) เพื่อเปิดทางให้การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นักข่าวของเอเอฟพีรายงานว่าในเมืองสะกาย ที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวไม่ถึง 15 กิโลเมตร ผู้คนหลายร้อยชีวิตเข้าแถวรอรับการแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือฉุกเฉินอย่างสิ้นหวัง
การจราจรบนถนนที่มุ่งหน้าสู่เมืองนี้คับคั่งไปด้วยรถ ที่หลายคันเป็นส่วนหนึ่งของขบวนรถช่วยเหลือที่จัดการโดยอาสาสมัครพลเรือน และมีป้ายติดรถที่ระบุว่าถูกส่งมาจากทั่วประเทศ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นในสะกายนั้นกว้างขวาง โดยอาคารต่างๆ ในเมืองประมาณ 80% ได้รับความเสียหาย และ 50% ได้รับความเสียหายในระดับรุนแรง ตามการระบุของผู้แทน UNDP ประจำพม่า
ตลาดขายอาหารไม่สามารถใช้การได้ ขณะที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วย และโครงสร้างอาคารดูไม่ปลอดภัย ทำให้ผู้ป่วยต้องรับการรักษากลางแจ้งท่ามกลางอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส
“เรามีเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้บาดเจ็บอยู่ที่นั่น แต่ไม่มีเวชภัณฑ์เพียงพอ หากดูจากพื้นที่ที่ไ่ด้รับผลกระทบโดยรวมแล้ว อาจมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 3 ล้านคน” ผู้แทน UNDP ประจำพม่า กล่าว
เป็นเวลาเกือบสัปดาห์หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ชาวบ้านกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือ
“เรามีบ่อน้ำสำหรับใช้เป็นน้ำดื่ม แต่ไม่มีน้ำมันสำหรับเครื่องสูบน้ำ เราไม่รู้ว่าจะไม่มีไฟฟ้าใช้ไปอีกนานแค่ไหน” เอ ธิกา กล่าวกับเอเอฟพี
แม่ชีอายุ 63 ปี ได้ช่วยแจกความช่วยเหลือให้กับคนที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน และยังมีคนจำนวนมากที่ต้องการมุ้งและผ้าห่ม เนื่องจากต้องนอนนอกบ้านเพราะแผ่นดินไหวทำลายบ้านของพวกเขา หรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก
“ผู้คนที่ผ่านไปมาบนท้องถนนมีน้ำใจบริจาคน้ำและอาหารให้เรา เราต้องพึ่งพาความเมตตาของพวกเขา” แม่ชี กล่าว
ผู้นำหลักทั้งหมดจากกลุ่ม BIMSTEC ที่ประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย คาดว่าจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯ
ประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพได้เสนอให้ผู้นำออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับผลกระทบของภัยพิบัติเมื่อพวกเขาพบหารือกันในวันศุกร์ หนึ่งสัปดาห์หลังจากเกิดแผ่นดินไหว
การเข้าร่วมของมิน อ่อง หล่าย ถือเป็นชัยชนะทางการทูตสำหรับรัฐบาลพม่า เนื่องจากการประชุมสุดยอดครั้งนี้ฝ่าฝืนนโยบายของภูมิภาคที่งดเชิญผู้นำรัฐบาลทหารเข้าร่วมงานสำคัญ
การมาถึงของเขาในเมืองหลวงของไทยเกิดขึ้นในขณะที่โฆษกของรัฐบาลทหารยืนยันยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวอยู่ที่ 3,085 คน โดยมีผู้สูญหาย 341 คน และบาดเจ็บ 4,715 คน
กรุงเทพฯ ที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวหลายร้อยกิโลเมตร ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน โดยยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 22 คน และยังสูญหายอีกกว่า 70 คนในบริเวณที่อาคารถล่ม โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงทำงานค้นหาเหยื่อแผ่นดินไหว แต่โอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตเพิ่มนั้นเริ่มลดน้อยลง
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียเดินทางถึงกรุงเทพฯ เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เช่นเดียวกับมูฮัมหมัด ยูนูส ผู้นำบังกลาเทศ
สื่อของบังกลาเทสคาดเดาอย่างกว้างขวางว่าทั้งคู่จะพบหารือกัน แต่ยังไม่มีการยืนยัน.