รอยเตอร์ - กลุ่มบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดของพม่ากล่าวว่ามีความต้องการที่พักพิง อาหาร และน้ำอย่างเร่งด่วน หลังจากแผ่นดินไหวคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 2,700 คน ขณะที่สงครามกลางเมืองของประเทศ ทำให้ความช่วยเหลือไปถึงในพื้นที่ที่ต้องการได้ยากลำบากขึ้น
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่ากล่าวในการแถลงข่าวทางโทรทัศน์ในวันอังคาร (1) ว่ายอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 2,719 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3,000 คน เขากล่าวว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4,521 คน และสูญหาย 441 คน
แผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ที่เกิดขึ้นช่วงเที่ยวของวันศุกร์ ที่ถือเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ในรอบกว่าศตวรรษ ที่ทำลายทั้งเจดีย์โบราณและอาคารสมัยใหม่
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่า ในพื้นที่มัณฑะเลย์ของพม่า มีเด็กเสียชีวิต 50 คน และครู 2 คน หลังจากโรงเรียนอนุบาลของพวกเขาถล่มลงมาตอนเกิดแผ่นดินไหว
“ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ชุมชนต่างๆ พยายามอย่างหนักเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐาน เช่น การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัย ขณะที่ทีมกู้ภัยทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต และให้ความช่วยเหลือเพื่อช่วยชีวิต” OCHA ระบุ
คณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศกล่าวว่าสถานที่ต่างๆ รวมทั้งมัณฑะเลย์ ต้องการที่พักพิง อาหาร น้ำ และความช่วยเหลือทางการแพทย์
“ผู้คนหวาดกลัวอาฟเตอร์ช็อกหลังเผชิญกับความน่าสะพรึงกลัวของแผ่นดินไหว ทำให้ประชาชนต้องนอนนอกบ้านบนถนนหรือในพื้นที่โล่ง” เจ้าหน้าที่ IRC ในมัณฑะเลย์ กล่าว
สงครามกลางเมืองในพม่าที่รัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจในการรัฐประหารในปี 2564 ทำให้ความพยายามในการเข้าถึงผู้ได้รับบาดเจ็บและคนไร้ที่อยู่อาศัยจากแผ่นดินไหวมีความซับซ้อนมากขึ้น
องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่ากองทัพจำเป็นต้องอนุญาตให้ความช่วยเหลือเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุม ขณะที่กลุ่มติดอาวุธกล่าวว่ารัฐบาลทหารโจมตีทางอากาศหลังจากเกิดแผ่นดินไหว
“กองทัพพม่ามีแนวทางปฏิบัติมายาวนานในการปฏิเสธความช่วยเหลือในพื้นที่ที่กลุ่มต่อต้านเคลื่อนไหวอยู่” โจ ฟรีแมน นักวิจัยขององค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุ
“รัฐบาลทหารพม่าต้องอนุญาตให้องค์กรด้านมนุษยธรรมทั้งหมดเข้าถึงได้โดยไม่ถูกขัดขวางโดยทันทีและขจัดอุปสรรคในด้านการบริหารที่ทำให้การประเมินความต้องการล่าช้า”
การควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาลทหารต่อเครือข่ายการสื่อสารและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับถนน สะพาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกิดจากแผ่นดินไหว ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้กับเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์มากยิ่งขึ้น
ด้านเจ้าหน้าที่ของไทยกล่าวว่าการประชุมผู้นำระดับภูมิภาคที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายสัปดาห์นี้จะดำเนินการต่อไปตามแผน แต่พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย อาจเข้าร่วมการประชุมผ่านการประชุมทางไกล
ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหว แหล่งข่าวระบุว่าผู้นำรัฐบาลทหารพม่าจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมในกรุงเทพฯ ในวันที่ 3-4 เม.ย.