xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใช้แล้ว! สะพานเชื่อม “กอกะเร็ก-ผาอัน” หลังช้า 3 ปี จากสงครามกลางเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธีเปิดสะพานข้ามแม่น้ำจายง์แห่งใหม่ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2568
MGR Online - มุขมนตรีรัฐกะเหรี่ยงทำพิธีเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำจายง์แห่งใหม่ เชื่อมจากเมืองกอกะเร็กไปผาอัน บนเส้นทางการค้าหลัก "ไทย-พม่า" หลังล่าช้าเกือบ 3 ปี จากสงครามภายในระหว่างฝ่ายต่อต้านกับกองทัพพม่า

ช่วงเช้าของวันที่ 9 มีนาคม 2568 อู มิวตั้น รัฐมนตรีกระทรวงก่อสร้าง พม่า อู ซอมิ่นอู มุขมนตรีรัฐกะเหรี่ยง พ.อ.บญาวิน รองผู้บัญชาการ กองทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ กองทัพพม่า ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำจายง์แห่งใหม่ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เป็นเงิน 6.8 พันล้านเยน หรือประมาณ 1,550 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน


สะพานแห่งนี้สร้างคู่ขนานกับสะพานแห่งแรกที่เปิดใช้งานมานานตั้งแต่ปี 2542 บนแนวทางหลวงเอเชียหมายเลข 1(AH 1) เชื่อมระหว่างตำบลโจ่งโด เมืองกอกะเร็ก กับตำบลจายง์ เมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง ถือเป็นข้อต่อสำคัญจุดหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ระยะทาง 1,450 กิโลเมตร ที่เชื่อมจากท่าเรือดานัง ชายฝั่งทะเลของเวียดนามในฟากตะวันออก ผ่านดินแดนลาว ไทย จนถึงท่าเรือในอ่าวเมาะตะมะ เมืองเมาะละแหม่ง และยังข้ามต่อขึ้นไปถึงกรุงย่างกุ้ง ของพม่า ในฟากตะวันตก

นอกจากนี้ สะพานข้ามแม่น้ำจายง์แห่งใหม่ยังเป็นจุดเชื่อมต่อที่มีบทบาทสำคัญกับเส้นทางการค้าหลักระหว่างไทยและพม่า จากด่านชายแดนที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ข้ามไปเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ผ่านทางหลวง AH 1 เพื่อนำไปกระจายต่อทั่วประเทศพม่าที่กรุงย่างกุ้ง


สะพานข้ามแม่น้ำจายง์แห่งใหม่ เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 โดยมีบริษัท Hazama Ando Corporation และ Mitsubishi Construction เป็นผู้รับเหมาหลัก มีบริษัทก่อสร้างของพม่าอีกหลายแห่งของพม่าเป็นผู้รับเหมาช่วง

ลักษณะของสะพานเป็นสะพานแขวน ยาว 580 เมตร กว้าง 22.69 เมตร สามารถรับน้ำหนักรถบรรทุกขนาด 60 ตัน

Karen Information Center เคยมีรายงานไว้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 หลังเริ่มสร้างสะพานไปได้ 2 ปี และก่อนเกิดการรัฐประหารในพม่า 1 สัปดาห์ ว่าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำจายง์แห่งใหม่คืบหน้าไปแล้ว 50% คาดว่าจะสร้างเสร็จเปิดใช้งานได้ในเดือนมิถุนายน 2565

แต่ปรากฏว่า หลังการรัฐประหารในพม่า และเกิดสงครามภายในรัฐกะเหรี่ยงระหว่างกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน (PDF) กับกองทัพพม่า โดยเฉพาะตามแนวทางหลวง AH 1 ทำให้การสร้างสะพานแห่งนี้ประสบกับความล่าช้า จนเพิ่งเสร็จและเปิดใช้งานได้เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา.

ตำแหน่งสะพานข้ามแม่น้ำจายง์แห่งใหม่ บนทางหลวงเอเชียหมายเลข 1 (AH 1) เส้นทางการค้าหลักของไทย-พม่า


กำลังโหลดความคิดเห็น