xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพม่าพลัดถิ่นเริ่มปลูกฝิ่นเลี้ยงชีพกันมากขึ้น หลังสงครามกระทบผืชผลทางการเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ออง หล่า ชาวนาพลัดถิ่น ขูดยางฝิ่นออกจากฝักกลางไร่ฝิ่นในพื้นที่ห่างไกลของพม่า โดยเขาระบุว่าพืชที่เป็นยาเสพติดชนิดนี้เป็นโอกาสเดียวของเขาในประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

ชายวัย 35 ปีผู้นี้ที่เคยเป็นชาวนา เมื่อครั้งรัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจจากการรัฐประหารในปี 2564 ทำให้กองกำลังติดอาวุธสนับสนุนประชาธิปไตยเข้ามามีส่วนในความขัดแย้งระหว่างกองทัพและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์

4 ปีต่อมา สหประชาชาติกล่าวว่าพม่ากำลังติดอยู่ในภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตของความขัดแย้ง ความยากจน และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

ออง หล่า ถูกบังคับให้ต้องอพยพออกจากที่ดินของตัวเองในหมู่บ้านโมบาย เนื่องจากการสู้รบหลังการรัฐประหาร เมื่อเขาย้ายไปตั้งรกรากใหม่ พืชผลตามปกติของเขาไม่ทำกำไรอีกต่อไป แต่ฝิ่นนั้นเพียงพอสำหรับการยังชีพ

“ทุกคนคิดว่าปลูกฝิ่นแล้วจะร่ำรวย แต่เราแค่พยายามดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงชีพ” ออง หล่า กล่าว จากเมืองเปกอน รัฐชาน

เขากล่าวว่าเขาเสียใจที่ปลูกพืชชนิดนี้ ที่เป็นส่วนประกอบหลักของเฮโรอีน แต่เขาบอกว่ารายได้เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เขารอดพ้นจากความอดอยาก

“ถ้าใครได้มาอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับผม พวกเขาก็คงทำแบบเดียวกัน” ออง หล่า กล่าว

การผลิตฝิ่นของพม่าเคยเป็นรองเพียงอัฟกานิสถานเท่านั้น ที่การปลูกฝิ่นเจริญรุ่งเรืองหลังการบุกโจมตีของสหรัฐฯ เนื่องจากเหตุการณ์ 9/11 ปี 2544 แต่หลังจากรัฐบาลตอลิบันเริ่มดำเนินการปราบปราม พม่าแซงหน้าอัฟกานิสถานขึ้นเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2566 ตามข้อมูลของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)

เศรษฐกิจฝิ่นของพม่า ที่รวมถึงมูลค่าการบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ อยู่ที่ประมาณ 589 ล้านดอลลาร์ ถึง 1,570 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของ UNODC

ระหว่างเดือน ก.ย.-ก.พ. ของทุกปี คนงานหลายสิบคนทำงานในไร่ฝิ่นในเมืองเปกอน กรีดฝักและเก็บน้ำยางสีน้ำตาลเหนียวที่ไหลซึมออกมา

อ่อง นาย อายุ 48 ปี เดินเก็บรวบรวมน้ำยางจากฝิ่นอย่างระมัดระวัง เขาเคยเป็นคนปลูกฝิ่นที่กลับเนื้อกลับตัวแล้ว แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร ที่ยุติการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาได้เพียงไม่นาน ความยากลำบากจากสงครามทำให้เขาต้องหันกลับมาปลูกฝิ่นอีกครั้ง

“มีการปลูกฝิ่นมากขึ้นเนื่องจากความยากลำบากในการดำรงชีพ” อ่อง นาย กล่าว

“ชาวนาส่วนใหญ่ที่ปลูกฝิ่นเป็นคนอพยพพลัดถิ่น คนที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ในหมู่บ้านของตัวเองได้และต้องหลบหนีเข้าป่า ก็ต้องทำงานในไร่ฝิ่น” อ่อง นาย ระบุ

ในพื้นที่ชายแดนของพม่า กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ กองกำลังติดอาวุธตามชายแดน และกองทัพ ต่างแย่งชิงทรัพยากรในท้องถิ่นและการค้ายาเสพติดที่ทำกำไรมหาศาล

อ่อง นาย กล่าวว่า รายได้จากฝิ่นทำกำไรได้มากกว่าพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ เล็กน้อย เช่น ข้าวโพด ถั่ว และมันฝรั่ง ที่ยังเสี่ยงกับโรคเมื่อมีฝนตกด้วย

ข้อมูลของ UNODC ระบุว่า เกษตรกรชาวพม่าขายฝิ่นสดในราคาเพียง 300 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมในปี 2567 ที่ถือเป็นเพียงเศษเสี้ยวของราคาที่ขายในตลาดมืดระหว่างประเทศ

และพืชชนิดนี้ยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าข้าว เนื่องจากต้องใช้แรงงานมากกว่า ต้องใช้ปุ๋ยราคาแพง และให้ผลผลิตน้อย

อ่อง นาย กล่าวว่าเขาได้กำไรเพียง 30 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม และตั้งคำถามว่าเขาจะร่ำรวยจากสิ่งนี้ได้อย่างไร

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ประเมินว่ามีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 3.5 ล้านคนในพม่า แต่การหลบหนีออกจากพื้นที่ขัดแย้งเพื่อไปปลูกฝิ่นก็ไม่ได้รับประกันความปลอดภัย

“เครื่องบินรบของกองทัพบินอยู่เหนือหัวพวกเรา เราทำงานในไร่ฝิ่นด้วยความกังวลและหวาดกลัว เรารู้สึกไม่ปลอดภัย” อ่อง นาย กล่าว

การปลูกและผลิตฝิ่นในพม่าลดลงเล็กน้อยระหว่างปี 2566-2567 ตามข้อมูลของ UNODC ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปะทะกันที่ยังคงดำเนินอยู่ระหว่างกลุ่มติดอาวุธ

“ถ้าประเทศของเรามีความสงบสุขและมีอุตสาหกรรมต่างๆ เสนอโอกาสการจ้างงานมากมายในภูมิภาค เราจะไม่ทำไร่ฝิ่นเลย แม้ว่าจะถูกขอให้ทำก็ตาม” ฉ่วย ข่าย อายุ 43 ปี กล่าว

ออง หล่า เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าวและเสริมว่าเมื่อเกิดสงคราม ก็ไม่มีทางเลือกอื่น.
กำลังโหลดความคิดเห็น