เอพี - สำนักข่าวออนไลน์อิสระแห่งหนึ่งในพม่าเผยว่านักข่าวในสังกัดที่ถูกจับกุมเมื่อ 2 ปีก่อน ถูกทารุณทางร่างกายและจิตใจทุกวัน หลังจากเปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรือนจำหลักของประเทศที่เขากำลังถูกคุมขัง
ส่วย วิน บรรณาธิการบริหารของสำนักข่าว Myanmar Now ระบุว่า การกระทำที่เกิดขึ้นกับซาย ซอ ไต้ก์ ช่างภาพข่าว ก็เพื่อลงโทษที่เขาเปิดเผยข้อมูลจากเรือนจำให้สื่อต่างๆ และเพราะรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศรู้สึกไม่พอใจ ที่ไต้ก์รายงานข่าวเกี่ยวกับพวกเขาก่อนถูกจับกุม
รัฐบาลทหารได้ปราบปรามเสรีภาพสื่ออย่างหนักตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในเดือน ก.พ.2564 รายงานของคณะกรรมการคุ้มครองนักข่าว (CPJ) ระบุว่าพม่าอยู่ในอันดับ 3 ของผู้คุมขังนักข่าวเลวร้ายที่สุดในโลก รองจากจีน และอิสราเอล
ซาย ซอ ไต้ก์ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่เรือนจำต่อเพื่อนนักโทษการเมือง ระหว่างที่เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพม่าเยี่ยมเรือนจำอินเส่ง ในย่างกุ้ง ส่วย วิน กล่าวกับสำนักข่าวเอพี
เมื่อปีก่อน คณะกรรมการของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แนะนำให้ระงับการเป็นสมาชิกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพม่า โดยหน่วยงานได้รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับการขาดความเป็นอิสระ การไม่สามารถจัดการปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การขาดความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและระบบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และการคัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการหลังจากที่กองทัพเข้ายึดอำนาจ คณะกรรมการรับรองระบุว่าข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานพม่าไม่เปลี่ยนแปลงข้อค้นพบเหล่านั้น
สหประชาชาติและผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าระบบตุลาการของพม่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพที่ปกครองประเทศ
ซาย ซอ ไต้ก์ อายุ 41 ปี ถูกจับกุมในเดือน พ.ค.2566 ที่เมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ขณะรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้นจากไซโคลนโมคา ที่เป็นพายุที่ทำลายล้างรุนแรงที่สุดของประเทศในรอบอย่างน้อย 10 ปี
เขาถูกศาลทหารตัดสินจำคุก 20 ปี หลังถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาภายใต้กฎหมายโทรคมนาคม กฎหมายการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ และกฎหมายที่ครอบคลุมการยุยงปลุกปั่น โดยถูกกล่าวหาว่าทำให้เกิดความกลัวและเผยแพร่ข่าวเท็จ
ส่วย วิน กล่าวว่า ซาย ซอ ไต้ก์ ถูกทุบตี ทรมาน และคุกคามทางร่างกาย รวมทั้งถูกบังคับให้ถือโถที่เต็มไปด้วยอุจจาระ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หลังจากเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพม่าเข้าเยี่ยมเรือนจำเมื่อต้นปี
“รัฐบาลทหารพม่าต้องระบุตัวและดำเนินคดีกับผู้ที่รับผิดชอบการทำร้ายนักข่าว ซาย ซอ ไต้ก์ การละเมิดเช่นนี้โหดร้ายและน่าขยะแขยง รัฐบาลทหารของพม่าต้องหยุดจำคุกและละเมิดสิทธินักข่าวทันที” ชอว์น คริสพิน ผู้แทนอาวุโสของ CPJ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุในคำแถลง
รัฐบาลทหารไม่ได้ตอบสนองต่อข้อกล่าวหาเหล่านี้
สื่ออย่างน้อย 15 แห่ง รวมถึง Myanmar Now ถูกเพิกถอนใบอนุญาตสื่อและนักข่าวอย่างน้อย 172 คน ถูกจับกุมตัว และจากจำนวนดังกล่าว ยังคงถูกคุมขังจนถึงขณะนี้มากถึง 50 คน ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ โดยส่วนใหญ่ถูกตัดสินว่ามีความผิดตามกฎหมายความมั่นคงที่กำหนดไว้อย่างกว้างๆ
ทั้งนี้ สำนักข่าวเอพีไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรือนจำอินเส่งได้ แต่เรือนจำแห่งนี้มีชื่อเสียงอื้อฉาวมานานหลายสิบปีในด้านการคุมขังนักโทษการเมืองภายใต้รัฐบาลทหารสมัยต่างๆ
รายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่ากองกำลังความมั่นคงได้จับกุมผู้คนไปถึง 28,693 คน นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ โดยคนเหล่านี้ยังถูกควบคุมตัวอยู่ถึง 21,937 คน.