MGR ออนไลน์ - กองทัพพม่าทิ้งระเบิดใส่กลุ่มติดอาวุธที่โจมตีพื้นที่สำคัญสำหรับการลงทุนของจีนในประเทศวันนี้ (26) ทำให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ชาวบ้านในพื้นที่ระบุ ขณะที่กลุ่มติดอาวุธยังคงเดินหน้าโจมตีจอก์พยู เมืองชายฝั่งทางตะวันตกของรัฐยะไข่
กองทัพอาระกัน (AA) เป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธที่ทรงอิทธิพลที่สุดของพม่า และเกือบจะบรรลุเป้าหมายในการเอาชนะกองกำลังของรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจในปี 2564 ได้ทั่วทั้งรัฐยะไข่
“เช้าวันนี้ กองทัพอาระกันเปิดฉากโจมตีด้วยอาวุธหนักใส่ฐานทัพเรือธัญวดี และยังมีการยิงกันด้วย” นาย โซ ข่าย ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ กล่าวกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี โดยอ้างถึงฐานทัพเรือหลักในเมืองจอก์พยู
“กองทัพตอบโต้ด้วยการยิงจากเครื่องบินขับไล่ และมีพลเรือนเสียชีวิตหลังจากเครื่องบินทิ้งระเบิด” ชาวบ้านคนเดิมระบุ
พลเรือนมากกว่า 1,000 คน ต้องหลบหนีออกจากพื้นที่ นาย โซ ข่าย ระบุ และเสริมว่าเป็นเรื่องยากที่จะระบุจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิต เนื่องจากการสื่อสารใช้การไม่ได้เป็นส่วนใหญ่
สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อโฆษกของกองทัพอาระกัน และโฆษกของรัฐบาลทหารเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีการตอบกลับจากทั้งคู่
กองทัพอาระกัน ที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวยะไข่ ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของรัฐ ได้เข้ายึดเมืองต่างๆ ได้ 14 เมืองจากทั้งหมด 17 เมืองของรัฐยะไข่ โดยเอาชนะกองทัพในการสู้รบได้ครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่ปลายปี 2566
จอก์พยู หนึ่งในเป้าหมายใหญ่แห่งสุดท้ายของกองทัพอาระกันในรัฐยะไข่ ตั้งอยู่บนท่าธรรมชาติที่มุมทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะรามรี นอกจากท่าเรือน้ำลึกตามธรรมชาติแล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรทางทะเลได้มากมาย
จีนวางแผนสร้างท่าเรือน้ำลึกในเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยู เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
น้ำมันและก๊าซธรรมชาติกำลังไหลจากคลังที่จอก์พยูไปยังมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน ทำให้จีนมีเส้นทางอื่นในการนำเข้าน้ำมันในกรณีที่เกิดความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
กองทัพอาระกันเปิดฉากโจมตีเมืองจอก์พยูเมื่อวันที่ 20 ก.พ. และกองทัพได้ตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศและจากเรือรบทางทะเล ซึ่งผู้อยู่อาศัยรายหนึ่งกล่าวว่าคาดว่าจะมีการสู้รบครั้งใหญ่เกิดขึ้น
“กองทัพอาระกันกำลังปิดล้อมค่ายทหารทั้งหมด หลังจากปิดล้อมแล้ว เรารู้ว่าการสู้รบจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และทำให้เราสามารถพูดได้ว่าการสู้รบเพื่อเข้ายึดจอก์พยูได้เริ่มขึ้นแล้ว” ตุน จี กล่าว
จีนไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการสู้รบครั้งล่าสุดนี้ แต่ได้พยายามไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในพม่า
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารและ CITIC Group ของจีนได้หารือถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจจอก์พยู และท่าเรือน้ำลึกของบริษัท ตามการระบุของของกระทรวงข้อมูลข่าวสาร
“แต่ด้วยปัญหาและความไม่มั่นคงทั้งหมดนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะดำเนินโครงการขนาดใหญ่เช่นนั้น” ชาวเมืองจอก์พยูที่ติดตามแผนการพัฒนาอย่างใกล้ชิดกล่าว
ทั้งนี้ สถาบันยุทธศาสตร์และนโยบายพม่าระบุในรายงานเดือน ม.ค. ว่ากองทัพอาระกันได้เข้าควบคุมโครงการพัฒนาของจีน 9 โครงการจากทั้งหมด 11 โครงการในรัฐยะไข่
แต่ถึงแม้ว่าโครงการของจีนจะประสบกับการหยุดชะงักและความล่าช้าในพื้นที่ต่างๆ ของพม่า แต่โดยทั่วไปแล้ว กองกำลังของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารไม่ได้ตั้งเป้าที่จะทำลายสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และในทางตรงกันข้าม กลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มได้ให้คำมั่นว่าจะปกป้องการลงทุนและบุคลากรของจีน.