เอเอฟพี - เด็กวัยหัดเดิน 2 คน เสียชีวิตจากระเบิดอาร์พีจีที่เชื่อว่าถูกฝังไว้ตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมืองของกัมพูชา หลังระเบิดเกิดระเบิดขึ้นใกล้บ้านของพวกเขา ตามการระบุของเจ้าหน้าที่วันนี้ (23)
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ (22) ในหมู่บ้านห่างไกลในจ.เสียมราฐ ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ที่เคยเป็นสมรภูมิรบของทหารรัฐบาลกัมพูชาและกองกำลังของเขมรแดงในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990
เด็กที่เสียชีวิตเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน เป็นเด็กชายและเด็กหญิงอายุ 2 ขวบทั้งคู่
“ตามรายงานการสอบสวน พบว่าเด็กเล็กทั้ง 2 คน กำลังเล่นอยู่บนพื้น พวกเขาขุดดินและอาจจะไปโดนระเบิดจนทำให้เกิดระเบิดขึ้น” เฮง รัตนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดกัมพูชา (CMAC) ระบุ
เขากล่าวว่าเด็กคนหนึ่งเสียชีวิตทันที และอีกคนหนึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
“สงครามยุติลงและสันติภาพได้เกิดขึ้นมานานกว่า 25 ปีแล้ว แต่เลือดชาวกัมพูชายังคงไหลออกมาเพราะทุ่นระเบิดและเศษซากของสงครามเหล่านี้” เฮง รัตนา กล่าวเสริม
อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากกัมพูชาถูกบังคับให้ต้องระงับปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดบางส่วนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลังจากวอชิงตันหยุดให้ทุนอย่างกะทันหันตามคำสั่งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ให้ระงับความช่วยเหลือต่างประเทศเป็นเวลา 90 วัน
แต่เมื่อวันศุกร์ เจ้าหน้าที่กัมพูชากล่าวว่านักเก็บกู้ทุ่นระเบิดจะกลับมาเก็บกู้ระเบิดที่ยังไม่ระเบิดอีกครั้ง หลังจากสหรัฐฯ ให้สิทธิยกเว้นเพื่อที่จะสามารถให้ทุนสนับสนุนการทำงานในประเทศต่อไป
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ยังคงเต็มไปด้วยวัตถุระเบิดและอาวุธที่ถูกทิ้งจากสงครามหลายทศวรรษที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1960 หลังจากสงครามกลางเมืองยาวนานกว่า 30 ปี สิ้นสุดลงในปี 2541 กัมพูชากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทุ่นระเบิดมากที่สุดในโลก
การเสียชีวิตจากทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 20,000 คน ตั้งแต่ปี 2522 และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็น 2 เท่าของจำนวนดังกล่าว
เมื่อเดือนที่ผ่านมา นักเก็บกู้ระเบิดกัมพูชา 2 คน เสียชีวิตขณะพยายามเคลื่อนย้ายทุ่นระเบิดต่อต้านรถถังอายุหลายสิบปีออกจากทุ่งนา และมีชาวบ้าน 1 คน เสียชีวิตจากทุ่นระเบิดที่ระเบิดขึ้นในฟาร์มของเขา
ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่ปนเปื้อนวัตถุระเบิดมากกว่า 1,600 ตารางกิโลเมตร ที่ต้องได้รับการเก็บกวาด ที่ทำให้ชาวกัมพูชาประมาณ 1 ล้านคนได้รับผลกระทบจากเศษซากสงคราม
กัมพูชาตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศปลอดทุ่นระเบิดภายในปี 2568 แต่รัฐบาลได้เลื่อนกำหนดเส้นตายดังกล่าวออกไป 5 ปี เนื่องจากความท้าทายด้านเงินทุนและพบทุ่นระเบิดใหม่ตามแนวชายแดนไทย.