xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลทหารพม่าปล่อยโรฮิงญาเกือบพันคนออกจากเรือนจำ นักวิเคราะห์มองปรับปรุงภาพลักษณ์หลังโดนหมายจับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR ออนไลน์ - กลุ่มสิทธิมนุษยชนเผยว่ารัฐบาลทหารพม่าได้ปล่อยตัวชาวโรฮิงญาเกือบ 1,000 คน ออกจากเรือนจำ นับเป็นความเคลื่อนไหวที่แสดงถึงเจตนาดีต่อชุมชนที่ถูกกดขี่ข่มเหงที่หาได้ยาก

รัฐบาทหารไม่ได้ประกาศถึงการปล่อยตัวดังกล่าว และไม่มีคำอธิบายว่าเหตุใดชาวโรฮิงญาเหล่านี้ถึงได้รับการปล่อยตัว แต่การปล่อยตัวนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากศาลในอาร์เจนตินาออกหมายจับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และเจ้าหน้าที่ทหารอีก 22 นาย จากข้อหาก่ออาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญาในการปราบปรามปี 2560

“เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลทหารต้องการปกปิดอาชญากรรมที่พวกเขากระทำกับโรฮิงญา” ไถ่ก์ ตุน อู สมาชิกอาวุโสของเครือข่ายนักโทษการเมืองพม่า กล่าว

“พวกเขาปล่อยตัวโรฮิงญาจากการคุมขังทันทีที่ศาลในอาร์เจนตินาออกหมายจับสากลกับพวกเขา เราต้องตระหนักถึงเรื่องนี้” ไถ่ก์ ตุน อู กล่าว

โรฮิงญา 936 คนที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันอาทิตย์ (16) จากเรือนจำในย่างกุ้ง ยังรวมถึงผู้หญิง 267 คน และเด็ก 67 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจับกุมหลังจากกองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2564

คนเหล่านี้จะถูกส่งตัวไปยังเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ทางเรือ

เมื่อวันเสาร์ (15) เจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของกองทัพได้เข้าไปในเรือนจำอินเส่งในย่างกุ้ง เพื่อออกเอกสารประจำตัวให้ชาวโรฮิงญา ไถ่ก์ ตุน อู กล่าว แต่เขาเสริมว่าเขาไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าโรฮิงญาเหล่านี้ได้รับเอกสารประเภทใด

นอกจากนี้ ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ได้รับการปล่อยตัวครั้งนี้ทำจนถูกคุมขังในตอนแรก แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ถูกจำคุกเนื่องจากละเมิดข้อจำกัดการเคลื่อนไหวของพวกเขา

ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่มาจากรัฐยะไข่ และส่วนใหญ่ไร้สัญชาติ โดยถือว่าเป็นผู้อพยพจากเอเชียใต้ และไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำหนดให้เป็นชนพื้นเมืองตามรัฐธรรมนูญของพม่า ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นนับถือศาสนาพุทธ

ในปี 2560 กองกำลังของรัฐบาลพม่าได้นำการปราบปรามอย่างนองเลือดในรัฐยะไข่ เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาต่อกองกำลังรักษาความมั่นคง และสมาชิกของชุมชนโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน ได้อพยพหลบหนีการปราบปรามดังกล่าวไปบังกลาเทศ ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน และส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น

ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติกล่าวในเวลาต่อมาว่ากองทัพพม่าดำเนินการสังหารหมู่และข่มขืนหมู่ด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในปี 2565 สหรัฐฯ ระบุว่าความรุนแรงที่กระทำต่อชาวโรฮิงญาเทียบได้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

กองทัพพม่ากล่าวว่ากองทัพได้ดำเนินการในปฏิบัติการความมั่นคงที่ถูกต้องตามกฎหมาย

สัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลในอาร์เจนตินาได้ออกหมายจับสากลกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และเจ้าหน้าที่ทหารอีก 22 นาย ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญา

อาร์เจนตินากลายเป็นประเทศแรกที่เปิดการสอบสวนอาชญากรรมร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญาภายใต้หลักการของเขตอำนาจศาลสากล ที่เป็นหลักการทางกฎหมายที่อนุญาตให้ดำเนินคดีกับอาชญากรรมร้ายแรงไม่ว่าจะอาชญากรรมนั้นจะเกิดขึ้นที่ใด

โซ นาย นักวิเคราะห์การเมือง กล่าวว่ารัฐบาลทหารกำลังพยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ของตน หลังมีคำตัดสินจากศาลอาร์เจนตินา

ผู้นำขององค์กรสวัสดิภาพโรฮิงญากล่าวว่า มีความเสี่ยงว่าผู้ที่ถูกปล่อยตัวจะถูกกดดันให้ต่อสู้เพื่อกองทัพในรัฐยะไข่ ที่กองทัพอาระกัน (AA) กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์กำลังต่อสู้เพื่อควบคุมรัฐ ซึ่งเวลานี้ได้บีบให้กองกำลังของรัฐบาลทหารต้องถอยร่นอยู่ในพื้นที่เล็กๆ เพียงไม่กี่แห่ง รวมทั้งที่เมืองสิตตะเว

เน ซาน ละวิน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยโรฮิงญา กล่าวว่ากองทัพได้กดดันให้ชายชาวโรฮิงญาที่อยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นในเมืองสิตตะเว เข้าร่วมกองกำลังของรัฐบาลทหาร

“พวกเขากังวลเกี่ยวกับการถูกบังคับเกณฑ์ทหาร” เน ซาน ละวิน กล่าวถึงผู้ที่ถูกปล่อยตัว

เมื่อปีที่ผ่านมา กองกำลังทหารของรัฐบาลได้เกณฑ์ชาวโรฮิงญาเข้าร่วมในกองกำลังติดอาวุธเพื่อช่วยต่อสู้กับกองทัพอาระกัน ที่ได้แรงสนับสนุนจากชาวพุทธในรัฐ ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวยะไข่.
กำลังโหลดความคิดเห็น