เอพี - ในขณะที่ผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าและฝ่ายตรงข้ามกำลังทำสงครามนองเลือดในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกือบทุกคนต่างร่วมเฉลิมฉลองในสิ่งที่พวกเขาเห็นว่ามีคุณค่า นั่นก็คือ การใช้ทานาคา ผงแป้งสีขาวอมเหลืองที่ทำจากเปลือกไม้บดเพื่อใช้เป็นเครื่องสำอางตามธรรมชาติดั้งเดิม
แก้มที่ถูกทาด้วยทานาคาสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในพม่า ที่ผู้หญิงและเด็กจะทาแป้งทานาคาที่แก้ม จมูก หน้าผาก คอ แขน และหน้าแข้ง หลังจากอาบน้ำในตอนเช้า ระหว่างวัน และก่อนเข้านอน และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะพบเห็นผู้ชายทาทานาคาที่ใบหน้าเช่นกัน โดยปัจจุบัน วัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานี้จะได้รับการพิจารณาโดยหน่วยงานด้านวัฒนธรรมของสหประชาชาติ
พม่ากำลังยื่นขอเพิ่มทานาคาเข้าในรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก โดยเชื่อว่าการใช้ทานาคานั้นมีมายาวนานกว่า 1,000 ปีแล้ว โดยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงถึงการใช้งานสามารถพบเห็นได้ในวัดสมัยศตวรรษที่ 11 ในเมืองพุกาม เมืองหลวงเก่า ที่เป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก
ทานาคาทำขึ้นจากเปลือกไม้จันทน์หลายชนิดที่เติบโตในเขตแห้งแล้งทางตอนกลางของพม่า ที่เวลานี้เป็นฐานที่มั่นในการต่อต้านกองทัพ
ศัตรูของการปกครองของทหารก็ใช้ทานาคาเช่นกัน และในการชุมนุมประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในปี 2564 พวกเขาก็ใช้ทานาคาวาดสัญลักษณ์ประท้วงบนใบหน้า
สมาชิกขององค์กรทางสังคม 36 แห่ง ที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปี ถึง 80 ปี ได้รวมตัวกันเมื่อวันพุธ ที่สวนสาธารณะในนครย่างกุ้ง เมืองที่ใหญ่ที่สุดของพม่า เพื่อจัดแสดงทานาคา ในฐานะสัญลักษณ์ทางสังคมของพม่า โดยมีการแข่งขันร้องเพลงและเต้นรำแบบดั้งเดิม และนอกพื้นที่การแสดงแล้ว ยังมีซุ้มจัดแสดงราว 12 ซุ้ม ที่วางจำหน่ายไม้ทานาคา และเครื่องสำอางที่ผลิตจากทานาคา
ซันดา ขิ่น ประธาน Myanmar Cultural Heritage Trust ที่เป็นผู้จัดการการแข่งขัน กล่าวว่าการแข่งขันจัดแสดงผลงานครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อเน้นย้ำถึงวัฒนธรรมการทำทานาคา และช่วยให้ทานาคาได้รับความสนใจจากทั่วโลก
ในเบื้องต้น ทานาคาได้รับการเสนอชื่อให้รวมอยู่ในรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เมื่อเดือน มี.ค.2563 แต่การยื่นดังกล่าวถูกปฏิเสธเนื่องจากเอกสารไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งกระทรวงกิจการศาสนาและวัฒนธรรมของรัฐบาลทหาร กำลังทำงานเพื่อยื่นเสนอใหม่ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้
หากได้รับการยอมรับ ทานาคาจะกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้รายการที่ 2 ของพม่า ที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก ถัดจากเทศกาลน้ำติงยาน ที่ได้เพิ่มเข้าในรายชื่อเมื่อเดือน ธ.ค.2567
พม่าได้กำหนดให้วันเพ็ญของเดือนตะโบดเว (เดือนที่ 11 ตามปฏิทินพม่าแบบดั้งเดิม) เป็น ‘วันทานาคาพม่า’.