เอเอฟพี - รัฐบาลทหารพม่าได้วิพากษ์วิจารณ์ศาลอาร์เจนตินาที่ออกหมายจับผู้นำสูงสุดของประเทศจากข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา
โรฮิงญาเป็นชุมชนมุสลิมในพม่า ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งตามรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่าโรฮิงญาอยู่ภายใต้ภาวะการแบ่งแยก
ในสัปดาห์นี้ ศาลอาร์เจนตินาได้ออกหมายจับเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือน รวมถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ถิ่น จอ อดีตประธานาธิบดี และอองซานซูจี อดีตผู้นำพลเรือน
การออกหมายจับดังกล่าวที่เอเอฟพีได้เห็นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นการตอบสนองต่อคำร้องของกลุ่มสนับสนุนโรฮิงญาในอาร์เจนตินา
ซอ มิน ตุน โฆษกของรัฐบาลทหารพม่ากล่าวตอบโต้การออกหมายจับดังกล่าวว่า ‘อาร์เจนตินารู้จักพม่าหรือไม่? แต่รัฐบาลพม่ารู้จักอาร์เจนตินา’
“เราข้อแนะนำให้อาร์เจนตินาแต่งตั้งตำแหน่งผู้พิพากษาที่จำเป็นและว่างอยู่ก่อนเป็นอันดับแรกสำหรับฝ่ายตุลาการในประเทศ หากพวกเขาต้องการวิพากษ์วิจารณ์พม่าตามกฎหมาย” ซอ มิน ตุน กล่าวกับนักข่าว
ความคิดเห็นของซอ มิน ตุน ดูเหมือนจะอ้างถึงรายงานในเดือน ธ.ค. ที่ระบุว่าอาร์เจนตินาจำเป็นต้องแต่งตั้งผู้พิพากษา 150 คน ในทุกระดับของตุลาการ
คำร้องทางกฎหมายถูกยื่นภายใต้หลักเขตอำนาจศาลสากล ที่ประเทศต่างๆ สามารถดำเนินคดีอาชญากรรมได้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใด หากอาชญากรรมนั้นมีความร้ายแรงเพียงพอ เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรืออาชญากรรมสงคราม
ในบรรดาผู้ที่ถูกออกหมายจับ หนึ่งในนั้นคืออองซานซูจี เนื่องจากดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐระหว่างปี 2559-2564 โดยเธอถูกกล่าวหาว่าดำเนินการเพียงเล็กน้อยเพื่อหยุดยั้งการละเมิดชาวโรฮิงญาในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของศาลอาญาระหว่างประเทศ ขณะที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำลังพิจารณาคำร้องเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อพม่า
ชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกบังคับให้ต้องหลบหนีการกดขี่ข่มเหงและความรุนแรงไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ หรือเสี่ยงชีวิตเดินทางทางทะเลที่อันตรายเพื่อเดินทางไปยังมาเลเซียหรืออินโดนีเซียผ่านไทย
พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2564 ที่ก่อให้เกิดการปะทะครั้งใหม่กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และทำให้เกิดการจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชนหลายสิบกลุ่มที่เวลานี้ต่อสู้กับรัฐบาลทหาร
ตุน ขิ่น ประธานองค์กรโรฮิงญาพม่าในอังกฤษ ระบุว่ามีความยินดีกับความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ ที่ถือเป็นก้าวประวัติศาสตร์สู่ความยุติธรรมสำหรับชาวโรฮิงญาและทุกคนในพม่าที่ทนทุกข์ภายใต้การปกครองของกองทัพพม่า
“สิ่งนี้ถือเป็นชัยชนะของความยุติธรรมระหว่างประเทศในช่วงเวลาที่การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก” ตุน ขิ่น ระบุในคำแถลง.