MGR Online - รมว.คลังลาว ติดตามความคืบหน้าเขื่อนไฟฟ้า 1,460 เมกะวัตต์ กั้นแม่น้ำโขงที่หลวงพระบาง คาดสร้างเสร็จเริ่มจ่ายไฟได้ปี 2570 กำชับการก่อสร้างต้องไม่กระทบพื้นที่มรดกโลก การสัญจรทางเรือ การดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการผลิตไคแผ่น สินค้าประจำท้องถิ่น
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 เพจทางการของกระทรวงการเงิน สปป.ลาว รายงานข่าวการนำคณะเดินทางไปดูความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำโขง หลวงพระบาง (เขื่อนหลวงพระบาง) ของนายสันติพาบ พมวิหาน รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน ซึ่งเป็นการติดตามการปฏิบัติตามแผนงบประมาณแห่งรัฐ ปี 2568 โดยในรายงานข่าวระบุว่า การสร้างเขื่อนแห่งนี้เดินหน้าไปตามแผน คาดว่าจะสร้างเสร็จเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2570
เขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำโขง หลวงพระบาง สร้างกั้นแม่น้ำโขงช่วงระหว่างเมืองปากอูกับเมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง นายสันติพาบได้นำคณะเดินทางไปดูงานเขื่อนแห่งนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้พบกับตัวแทนบริษัทผู้พัฒนาโครงการเพื่อกำชับให้การก่อสร้างต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่มรดกโลกหลวงพระบาง ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะการสัญจรของเรือ และการผลิตไคแผ่น หรือสาหร่ายน้ำจืด ที่เป็นสินค้าหลักของชาวหลวงพระบาง
เขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำโขง หลวงพระบาง เป็นเขื่อนชนิดที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำ (Run-of-River) เช่นเดียวกับเขื่อนไซยะบูลี ตามรายงานข่าวระบุว่า บริษัทผู้รับสัมปทานได้ถอดบทเรียนจากการพัฒนาเขื่อนไซยะบูลี ทำให้สามารถใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยกว่าเขื่อนไซยะบูลี 2 ปี
เขื่อนมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแห่งนี้มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 6,424 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ต่อปี เป็นสัมปทานแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บริษัท CK Power จากประเทศไทย ถือหุ้น 42% บริษัท พีที จำกัดผู้เดียว ถือหุ้น 38% (ในนี้เป็นการถือหุ้นของรัฐบาล สปป.ลาว ในสัดส่วน 25%) บริษัท Petro Vietnam Power Corporation 10% และบริษัท ช.การช่าง จากประเทศไทย อีก 10%
ตัวเขื่อนสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 50.20 เมตร ยาว 218.23 เมตร สันเขื่อนสูง 317 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีประตูระบายน้ำ 6 แห่ง สามารถระบายน้ำได้ 41,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อควบคุมระดับน้ำไม่ให้เกิน 310 เมตรจากระดับน้ำทะเล หรือเท่ากับระดับน้ำที่เคยขึ้นสูงสุดเมื่อฤดูฝนที่ผ่านมา มีประตูระบายตะกอน 3 แห่ง บริเวณตัวเขื่อนมีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการแล่นผ่านของเรือโดยสารและเรือขนส่งสินค้าขนาด 500 ตัน โดยมีช่องทางผ่านของเรือ 1 ช่อง ทางผ่านของปลา 2 ช่อง
การก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ประกอบด้วย อาคารระบายน้ำล้น อาคารระบายตะกอน โรงผลิตไฟฟ้า ช่องทางผ่านของเรือ ช่องทางผ่านของปลา.