MGR ออนไลน์ - กองกำลังติดอาวุธสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า ที่ควบคุมพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของศูนย์หลอกลวงออนไลน์ขนาดใหญ่ใกล้ชายแดนไทยกล่าวว่า จะเนรเทศคนทำงานในศูนย์หลอกลวงออนไลน์ 8,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ออกจากพื้นที่ของพวกเขา ในความพยายามที่จะปิดกิจการที่ผิดกฎหมายเหล่านี้
คำมั่นที่จะกวาดล้างการค้ามนุษย์และการฉ้อโกงออนไลน์นี้เกิดขึ้นหลังจากกองกำลังกะเหรี่ยงเผชิญกับแรงกดดันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลังจากนานาประเทศแสดงความไม่พอใจมากขึ้นเกี่ยวกับกิจกรรมผิดกฎหมายในพื้นที่ดังกล่าว ที่ยังรวมถึงแรงงานบังคับ
“เราคาดว่าจะมีคนมากถึง 8,000 คน หรืออาจมากกว่านั้น” นาย หม่อง ซอ โฆษกของกองกำลังติดอาวุธที่รู้จักในชื่อ กองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (BGF) ซึ่งดูแลพื้นที่ในเมืองเมียวดี ที่ปฏิบัติการหลอกลวงออนไลน์ตั้งอยู่ กล่าว
“เราจะส่งคนกลับให้มากที่สุด ซึ่งเราได้ทำรายชื่อไว้แล้ว โดยผ่านทางไทยหรือกลับไปในพม่า แต่จากตัวเลข หลายคนในนั้นเดินทางมาด้วยวีซ่าไทย ดังนั้นเราต้องส่งพวกเขากลับไปที่ไทย” นาย หม่อง ซอ กล่าวกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี และเสริมว่าคนส่วนใหญ่มาจากจีน
BGF ได้ส่งตัวชาวต่างชาติ 61 คน มาที่ฝั่งไทยเมื่อวันที่ 6 ก.พ. หนึ่งวันหลังจากไทยตัดไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต และปิดกั้นการส่งออกเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่ที่ศูนย์หลอกลวงออนไลน์ตั้งอยู่ในพม่า ขณะที่ฝ่ายพม่าก็หยุดการส่งเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่ดังกล่าวด้วย ตามการเปิดเผยของคนในพื้นที่
และในวันพุธ (12) ยังมีชาวต่างชาติอีก 261 คน จาก 20 ประเทศ รวมทั้งจีน เอธิโอเปีย มาเลเซีย เนปาล เคนยา และฟิลิปปินส์ ถูกส่งตัวให้ทางการไทย
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ปฏิบัติการอย่างแพร่หลายอยู่ในพื้นที่ที่ไร้กฎหมายมากขึ้นในพม่า กัมพูชา และลาว หลังจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับกาสิโน
การฉ้อโกงที่เรียกว่า ‘เชือดหมู’ ในจีน มักเกี่ยวข้องกับการติดต่อทางออนไลน์กับบุคคลที่ไม่รู้ถึงอันตรายหรือภัยคุกคามใดๆ สร้างความสัมพันธ์กับพวกเขา จากนั้นก็หลอกลวงพวกเขา ซึ่งนักวิจัยระบุว่าเงินหลายพันล้านดอลลาร์ถูกขโมยไปจากเหยื่อทั่วโลกด้วยวิธีนี้
ศูนย์หลอกลวงออนไลน์ขนาดใหญ่เหล่านี้มักมีพนักงานที่ถูกหลอกด้วยโฆษณาหางานและถูกบังคับให้ทำงาน โดยบางครั้งถูกคุกคามด้วยความรุนแรง เจ้าหน้าที่กู้ภัยและกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุ
จีน ที่เป็นที่อยู่ของเหยื่อหลอกลวงออนไลน์จำนวนมาก ได้พยายามทำงานร่วมกับทางการของประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ให้ดำเนินการกับองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากการตัดสาธารณูปโภคและปิดกั้นการจัดส่งเชื้อเพลิงแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษของไทย ที่รับผิดชอบในการปราบปรามกลุ่มอาชญากร ได้พยายามขอหมายจับ ซอ ชิต ตู หัวหน้ากลุ่ม BGF ในข้อหาค้ามนุษย์
ขณะที่แรงกดดันเพิ่มสูงขึ้น BGF และองค์กรแม่ คือกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) ได้ให้คำมั่นว่าจะกำจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และแรงงานบังคับในพื้นที่ของพวกเขา และในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา พวกเขาได้เริ่มส่งตัวอดีตคนทำงานข้ามชายแดนมาฝั่งไทย
ผู้บัญชาการ DKBA กล่าวว่ายุคของการฉ้อโกงและแรงงานบังคับได้สิ้นสุดลงแล้ว และกองกำลังของเขาจะมุ่งเน้นที่ธุรกิจถูกกฎหมาย
“เราวางแผนที่จะเดินหน้าและสนับสนุนธุรกิจต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย โรงแรม และการท่องเที่ยวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อพัฒนาภูมิภาคของเรา” พล.อ.ซอ ซาน อ่อง ผู้บัญชาการ DKBA กล่าว
DKBA ก่อตั้งขึ้นหลังเกิดความแตกแยกภายในสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ในทศวรรษ 1990 และแยกตัวไปเข้ากับฝ่ายกองทัพพม่า กองทัพได้ปล่อยให้กองกำลัง DKBA ปกครองพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลในรัฐกะเหรี่ยง ต่อมา DKBA ได้จัดตั้งกองกำลัง BGF ขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของกองทัพ และพวกเขาได้ผลกำไรจากการค้าข้ามพรมแดน การพนันออนไลน์ และการหลอกลวงออนไลน์
DKBA เป็นพันธมิตรสำคัญของกองทัพพม่าที่เผชิญกับการโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้เพื่อโค่นล้มการปกครองของกองทัพ DKBA ได้เข้าแทรกแซงในเดือน เม.ย. ช่วยกองกำลังของรัฐบาลทหารหยุดยั้ง KNU จากการเข้ายึดครองเมียวดี ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับรัฐบาลทหาร.