xs
xsm
sm
md
lg

ไฟฟ้าดับปัญหาหลักหลังรัฐประหาร UN ชี้ชาวพม่าเข้าถึงไฟฟ้าไม่ถึง 50% ประชาชนหันพึ่งโซลาร์เซลล์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - อ่อง โก จี ชาวเมืองย่างกุ้ง กำลังชมบูทจัดแสดงเพื่อหาชุดโซลาร์เซลล์ที่เขาจะสามารถใช้รับมือกับปัญหาไฟฟ้าดับที่กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตของชาวพม่ามาเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร

“ผมต้องการแหล่งจ่ายไฟฟ้าเพื่อใช้งานตอนกลางคืน ผมต้องใช้คอมพิวเตอร์สำหรับธุรกิจของผมและใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต” ชายวัย 64 ปี กล่าวกับเอเอฟพีในงานนิทรรศการพลังงานแสงอาทิตย์ประจำปีครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ

ไฟฟ้าดับกลายเป็นเรื่องปกติในย่านที่อยู่อาศัยของเขา เนื่องจากการดับไฟเป็นระยะๆ ตามที่รัฐบาลทหารกำหนด ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลทหารกำลังต่อสู้เพื่อควบคุมพื้นที่ที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เข้ายึดครอง

อ่อง โบ โบ ชาวเมืองย่างกุ้งอีกรายหนึ่งบ่นเรื่องตารางเวลาไฟฟ้าดับที่ทำให้บ้านเรือนจำนวนมากต้องอยู่ในความมืดมิดเป็นเวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน และเขาต้องตื่นตอนเที่ยงคืนเพื่อทำอาหารและสูบน้ำในช่วงเวลาที่มีไฟฟ้าใช้

ยิน เก เถว พนักงานออฟฟิศในย่างกุ้งกล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องยากลำบากโดยเฉพาะสำหรับครอบครัวที่มีเด็ก เธอกล่าวว่าจะเป็นเรื่องดีกว่าหากไฟฟ้าดับในช่วงเวลาทำงาน ไม่ใช่ช่วงเย็นจนถึงหลังเที่ยงคืน

พม่ากำลังจมอยู่กับสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี ผู้นำประชาธิปไตย เมื่อ 4 ปีก่อน

พม่ามีน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน รวมถึงศักยภาพด้านพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ความไม่มั่นคงทางการเมือง การถอนตัวของนักลงทุน นโยบายที่ย่ำแย่ และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ทำให้ประเทศประสบปัญหา

รายงานของกระทรวงพลังงานไฟฟ้าเมื่อเดือน ม.ค. ระบุว่าด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 7,000 เมกะวัตต์ต่อวัน ในช่วงเวลาปกติระบบพลังงานสามารถจ่ายไฟได้ประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ แต่การผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยต่อวันลดลงเหลือ 2,200 เมกะวัตต์ และจ่ายไฟได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

รัฐบาลทหารกล่าวโทษปัญหาไฟฟ้าดับที่ย่ำแย่ลงนี้กับราคาก๊าซที่สูงขึ้นและการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานโดยกลุ่มต่อต้านการรัฐประหาร

ประมาณ 1 ใน 3 ของบริษัทที่ธนาคารโลกสำรวจในเดือน เม.ย.2567 ระบุว่าไฟฟ้าดับเป็นปัญหาหลักของพวกเขา โดยเพิ่มขึ้นจาก 12% ในเดือน ก.ย.2566

จากข้อมูลของสหประชาชาติ พบว่ามีเพียง 48% ของประชากรที่เข้าถึงไฟฟ้าในปลายปี 2567 ถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในเอเชีย และวิกฤตดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของพลเรือน

“เราไม่สามารถทำอาหารด้วยถ่านหรือไม้ในห้องเล็กๆ ในย่างกุ้งได้ ดังนั้นเราต้องพึ่งพาแก๊สเพื่อปรุงอาหารเท่านั้น แต่เราก็ยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแก๊สด้วย” ยิน เก เถว กล่าว

ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ทำให้มีการใช้แหล่งพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากระบบโซลาร์ ที่ส่วนใหญ่มาจากจีน เพื่อนบ้านทางตอนเหนือของพม่า ที่เป็นผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดของโลก

รายงานของกระทรวงพลังงานไฟฟ้าระบุว่า กระทรวงกำลังพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวโดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ และลม ที่สอดคล้องกับทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

รายงานของธนาคารโลกพบว่า 17% ของบริษัทพม่าที่ธนาคารสำรวจ ได้ลงทุนในระบบโซลาเซลล์แบบออฟกริด

ซอ เถ อ่อง ผู้อำนวยการของบริษัท Sun Solar Myanmar กล่าวว่าเขาพบว่าครัวเรือนที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าและน้ำมัน

“ทุกวันนี้ผู้คนหันมาให้ความสนใจพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะพลังงานแสงอาทิตย์สะดวกกว่าในการแก้ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในพม่า” ซอ เถ อ่อง กล่าว และเสริมว่าแผงโซลาร์เซลล์สำหรับใช้ที่บ้านสามารถติดตั้งได้ในราคาตั้งแต่ประมาณ 570 ดอลลาร์

“มันไม่ส่งเสียงดัง และเราใช้พลังงานจากธรรมชาติ แผงโซลาร์เซลล์อาจมีราคาแพงกว่าแหล่งพลังงานอื่นๆ ในตอนแรก แต่มันจะดีกว่าในระยะยาว” อ่อง โก จี กล่าว พร้อมทั้งสนับสนุนให้คนอื่นๆ หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่มืดมนนี้.






กำลังโหลดความคิดเห็น