xs
xsm
sm
md
lg

กัมพูชา-ลาว-พม่ากระทบหนัก หลังสหรัฐฯ ระงับทุนช่วยเหลือต่างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR ออนไลน์ - สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีรายงานว่าในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ผู้ป่วยในโรงพยาบาลถูกส่งตัวกลับบ้าน ขณะที่ลาว โครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนถูกระงับ และในกัมพูชา เจ้าหน้าที่หลายร้อยคนของหน่วยงานที่รับผิดชอบการกำจัดทุ่นระเบิดถูกพักงาน หลังจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศระงับความช่วยเหลือต่างประเทศเกือบทั้งหมดเป็นเวลา 90 วันตั้งแต่วันศุกร์ และอีก 1 วันต่อมา มีการระงับโครงการกำจัดทุ่นระเบิดทั่วโลก ตามการรายงานของนิวยอร์กไทม์ส

การระงับความช่วยเหลือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศมีเวลาทบทวนโครงการต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการต่างๆ นั้นมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้แนวทางอเมริกาต้องมาก่อน รายงานระบุ

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USAID ได้ส่งคำสั่งหยุดงานไปยังพันธมิตรที่ดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่องค์กรสื่อไปจนถึงคลินิกสุขภาพ

สหรัฐฯ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการถอนความช่วยเหลือจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาคนี้ คือ กัมพูชา ลาว และพม่า แม้ว่าญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเหล่านี้มากกว่า แต่สหรัฐฯ ค่อยๆ เพิ่มความช่วยเหลือแก่เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า จาก 380 ล้านดอลลาร์ในปี 2558 เป็นเกือบ 520 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 ตามข้อมูลของเกรซ สแตนโฮป ผู้ช่วยวิจัยจาก Lowy Center ที่ทำงานเกี่ยวกับแผนที่ความช่วยเหลือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กลุ่มที่ทำงานกับชาวทิเบต อุยกูร์ และเกาหลีเหนือ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งยังรวมถึงรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น ที่ตั้งอยู่ในธรรมศาลา อินเดีย และที่ให้การสนับสนุนชุมชนคนพลัดถิ่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคาร มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งยกเว้นสำหรับมาตรการระงับการให้ความช่วยเหลือต่างชาติ โดยเพิ่มข้อยกเว้นให้กับความช่วยเหลือในการช่วยชีวิต ที่รวมถึงยา ที่พัก และอาหาร

แม้ว่าคำสั่งและประกาศของกระทรวงการต่างประเทศจะระบุชัดเจนว่าโครงการต่างๆ สามารถเริ่มต้นใหม่ได้เมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้น แต่ผลกระทบในหลายประเทศนั้นเกิดขึ้นทันที โดยสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่ของเอ็นจีโอเพื่อทำความเข้าใจว่าการระงับความช่วยเหลือในพื้นที่เหล่านั้นเป็นเช่นไร


- พม่า -

วันเสาร์นี้จะเป็นวันครบรอบ 4 ปี ของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ที่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และได้จับกุมผู้นำระดับสูงของรัฐบาล สงครามกลางเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้ผู้คนต้องพลัดถิ่นกว่า 3.4 ล้านคน และจำนวนผู้ลี้ภัยก็เพิ่มขึ้นในฝั่งไทย ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน

ภายในไม่กี่วันหลังจากมีคำสั่งระงับความช่วยเหลือ บริการด้านการแพทย์หลายอย่างที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ ก็เริ่มหยุดชะงัก ในปีงบประมาณ 2567 ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567 สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พม่า 141 ล้านดอลลาร์

“ผู้ป่วยในของโรงพยาบาลค่ายผู้ลี้ภัยถูกปล่อยตัวออกจากโรงพยาบาลและต้องกลับบ้าน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ถูกพักงาน” เจ้าหน้าที่สาธารณสุขคนหนึ่งที่ขอไม่เปิดเผยชื่อด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยกล่าวกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี

สำนักข่าวอิรวดีรายงานว่า อาสาสมัครพยายามที่จะย้ายผู้ป่วยวิกฤตและส่งหญิงตั้งครรภ์ที่กำลังจะคลอดไปโรงพยาบาลภายนอก

เจ้าหน้าที่อีกรายยังระบุอีกว่ากลุ่มบรรเทาทุกข์ประมาณ 20 กลุ่ม ที่ให้การรักษาพยาบาลด้วยความช่วยเหลือจาก USAID ตามแนวชายแดนไทย-พม่า เสี่ยงที่จะถูกระงับการทำงานเช่นกัน และรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า คณะกรรมการกู้ภัยนานาชาติที่ให้ทุนสนับสนุนคลินิกต่างๆ แจ้งกับพวกเขาว่าจะต้องปิดคลินิกภายในวันศุกร์

ค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่าให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยเกือบ 140,000 คน

บันยาร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยงแดง ระบุว่าโรงเรียนในค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านั้นได้รับผลกระทบอย่างหนัก เงินเดือนครูและการจัดหาหนังสือและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ จะถูกระงับ

ส่วนผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับโครงการเอชไอวี/เอดส์ กล่าวว่าพวกเขากลัวว่าเงินทุนอาจไม่ถูกจัดสรรให้อีก โดยข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) มีเด็กกำพร้าประมาณ 100,000 คน ในพม่าเนื่องจากโรคเอดส์ ซึ่งโครงการตรวจและรักษาทำให้ผู้คนหลายแสนคนเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ รวมถึงช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสในตอนแรก

ในบังกลาเทศ ที่ชาวโรฮิงญามากกว่า 1 ล้านคน หลบหนีความรุนแรงในพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ขาดแคลนเงินทุนมาอย่างยาวนาน เกิดความสับสนว่าโครงการอาหารที่ได้รับทุนจากสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินต่อไปหรือไม่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลบังกลาเทศอ้างว่า USAID จะยังคงให้ความช่วยเหลือด้านอาหารต่อไป แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และสหประชาชาติดูเหมือนจะไม่แน่ใจว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน ตามการรายงานของ BenarNews

การระงับทุนช่วยเหลือต่างประเทศนี้ยังส่งผลกระทบต่อสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งที่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เพื่อเปิดเผยข้อมูลในประเทศที่นักข่าวมักถูกจำคุก ทำให้สำนักข่าวหลายแห่งต้องพักงานเจ้าหน้าที่


- ลาว -

โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในลาว มีตั้งแต่การดูแลสุขภาพมารดาไปจนถึงปฏิบัติการเก็บกวาดทุ่นระเบิด ที่ถือเป็นความต้องการสำคัญในประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดหนักที่สุดในโลกเมื่อเทียบต่อหัว จากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ในช่วงสงครามเวียดนาม

ซีอีโอของ Legacies of War ที่ทำงานให้การศึกษาและรณรงค์การกำจัดทุ่นระเบิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่าลาวกำจัดทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดออกไปไม่ถึง 10% ของพื้นที่

“เราจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เราก่อขึ้น เฉพาะในเดือนนี้ มีชายอายุ 36 ปี เสียชีวิตขณะทำอาหาร เขาเป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์จากสงครามของสหรัฐฯ ที่ยังคงก่อความเดือดร้อนในประเทศ” ซีอีโอ Legacies of War กล่าว

เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านการเกษตรที่ขอไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับสื่อกล่าวว่า เขาไม่แน่ใจว่าประเทศอื่นๆ จะสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้หรือไม่หากสหรัฐฯ ถอนความช่วยเหลือออกไป

“หลังจากการระบาดของโควิด-19 การร้องขอทุนจากทั่วโลกเพื่อสนับสนุนโครงการของเราถือเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด มันเป็นเรื่องยากมาก และขณะนี้เงินทุนก็มีจำนวนน้อยลง” เจ้าหน้าที่ กล่าว

ลาวเผชิญกับวิกฤตหนี้สาธารณะอย่างรุนแรง ส่งผลให้ราคาอาหารและสินค้าพื้นฐานต่างๆ พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในแขวงหัวพัน ที่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ยากจนที่สุดของลาว โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนก็ถูกปรับลดลงแล้ว

- กัมพูชา -

เช่นเดียวกับลาว กัมพูชายังคงต้องดิ้นรนกับมรดกตกค้างจากความขัดแย้งหลายทศวรรษ ที่วัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดยังคงทำให้ผู้คนได้รับบาดเจ็บล้มตาย การที่สหรัฐฯ ระงับการให้ทุนในโครงการกำจัดทุ่นระเบิดมีแนวโน้มที่จะทำให้รัฐบาลกัมพูชาต้องขยายระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศปลอดทุ่นระเบิดออกไปอีก

เฮง รัตนา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดกัมพูชาของรัฐบาล กล่าวว่าหน่วยงานได้รับเงินราว 2 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากรัฐบาลสหรัฐฯ และจากการระงับเงินทุนดังกล่าว ศูนย์มีแผนที่จะพักงานพนักงาน 210 คน จากทั้งหมดประมาณ 1,700 คน ทั่วประเทศ

“มันเหมือนกับการบังคับปิด เราขอให้มีการสนับสนุนปฏิบัติการนี้ต่อไป เพราะข้อตกลงของการให้ทุนของสหรัฐฯ ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการกวาดล้างวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิด” เฮง รัตนา กล่าว

ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการพลังงาน น้ำ และความยั่งยืน ของศูนย์ Stimson กล่าวว่า การระงับทุนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อโครงการของเขาเองด้วย ที่มุ่งเน้นในเรื่องแม่น้ำโขง รวมถึงประเด็นความมั่นคงอย่างกว้างขวาง เขาหวังว่าการระงับความช่วยเหลือดังกล่าวจะสิ้นสุดลงโดยเร็ว

นพ วี ผู้อำนวยการบริหารสมาคมนักข่าวกัมพูชา หรือ CamboJa กล่าวว่า เงินทุน 20-30% ของหน่วยงานมาจาก USAID ที่กลุ่มใช้ดำเนินโครงการฝึกอบรมนักข่าวและช่วยระดมทุนให้ CamboJa News ที่เป็นสื่ออิสระ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สื่ออิสระหลายแห่งได้ปิดตัวลงหรือถูกรัฐบาลบังคับปิด ทำให้เกิดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลเปิด

เฮง กิมฮง ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายเยาวชนกัมพูชา กล่าวว่าการระงับความช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯ จะลดกิจกรรมบางอย่างของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างเยาวชนและความสามารถในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลของ USAID ที่ออกเผยแพร่เมื่อปีก่อนระบุว่าการตัดไม้ทำลายป่ามีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกัมพูชาอย่างมาก ที่ถือเป็นความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม เฮง กิมฮง กล่าวว่า เขายังมองในแง่ดีว่าเงินทุนช่วยเหลือจะกลับมาดำเนินการเช่นเดิม เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศที่คิดถึงแต่ตัวเอง

“สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปกป้องและรับรองการส่งเสริมการรักษาระเบียบโลก การสร้างประชาธิปไตย ตลอดจนการสร้างความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน” เฮง กิมฮง กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น