xs
xsm
sm
md
lg

รัฐคะฉิ่นคาดสะพาน "บะละมินถิ่น 2" เสร็จปี 69 เชื่อมเส้นทางการค้า 3 ประเทศ "จีน-พม่า-อินเดีย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เส้นทางการค้า 3 ประเทศ จีน-พม่า-อินเดีย ผ่านรัฐคะฉิ่นและภาคสะกาย
MGR Online - มุขมนตรีรัฐคะฉิ่นดูความคืบหน้าการก่อสร้างสะพาน "บะละมินถิ่น 2" ข้ามแม่น้ำอิรวดี จุดเชื่อมต่อสำคัญของเส้นทางการค้าทางบก จากด่านกันไปก์ตี่ ชายแดนจีน ขึ้นไปช่องเขาพังซอ ชายแดนอินเดีย คาดสร้างเสร็จปี 2569

Popular News Journal รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568 อู แคตเถ่งหน่าน มุขมนตรีรัฐคะฉิ่น ได้เดินทางไปดูความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานบะละมินถิ่น 2 ข้ามแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของเส้นทางการค้าข้าม 3 ประเทศ จากชายแดนพม่า-จีน ไปชายแดนพม่า-อินเดีย ผ่านรัฐคะฉิ่นและภาคสะกาย

สะพานบะละมินถิ่น 2 ถูกสร้างคู่ขนานกับสะพานบะละมินถิ่นแห่งแรก ที่ถูกใช้งานมานานกว่า 25 ปี การก่อสร้างสะพานบะละมินถิ่น 2 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ในเขตซีตาปู่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดี ทางตอนเหนือของตัวเมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น ตัวสะพานยาว 979 เมตร หรือ 3,212 ฟุต โครงสร้างคานสะพานเป็นกล่องคอนกรีต (Box Girder) ปูพื้นด้านบนด้วยแผ่นคอนกรีตเสริมเหล็ก (RCC Slab) ส่วนถนนกว้าง 27 ฟุต หรือ 8 เมตร สามารถรองรับน้ำหนักรถบรรทุกได้มากกว่า 75 ตัน

ทีมงานของมุขมนตรีรัฐคะฉิ่น เดินทางไปดูงานก่อสร้างสะพานบะละมินถิ่น 2 ที่สร้างคู่ขนานกับสะพานบะละมินถิ่นแห่งแรก (ภาพจาก Popular News Journal)


สะพานแห่งนี้เป็นจุดเชื่อมสำคัญของเส้นทางที่มาจากด่านการค้ากันไปก์ตี่ ชายแดนพม่า-จีน ที่อยู่ตรงข้ามกับอำเภอเถิงซง เมืองเป่าซาน มณฑลยูนนาน มายังเมืองมิตจีนา หลังจากข้ามแม่น้ำอิรวดีแล้ว เส้นทางสายนี้จะพาดผ่านเมืองน้ำตี ขึ้นไปยังเมืองตะนาย เข้าเขตภาคสะกาย ก่อนต่อขึ้นไปถึงเมืองปันส่อง เมืองชายแดนของรัฐคะฉิ่น เข้าสู่ช่องเขาพังซอ ที่เป็นส่วนยอดของเทือกเขาปาดไก่ ก่อนลงไปยังเมืองน้ำปง เขตรัฐอรุณาจัลประเทศ ของอินเดีย

เชิงสะพานสะพานบะละมินถิ่น 2 ที่เมืองมิตจีนา ยังเชื่อมติดกับทางหลวง"มัณฑะเลย์-ล่าเสี้ยว-บะโม-มิตจีนา ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าภายในประเทศสายหลัก ที่เชื่อมรัฐคะฉิ่น ลงไปยังมัณฑะเลย์ กรุงเนปีดอ และกรุงย่างกุ้ง

ตามแผนการของกระทรวงก่อสร้าง สะพานบะละมินถิ่น 2 จะสร้างเสร็จในปี 2569 จากนั้นจะมีบทบาทเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางการค้าทางบกที่สำคัญ ระหว่าง 3 ประเทศ จีน-พม่า-อินเดีย ผ่านพื้นที่รัฐคะฉิ่นกับภาคสะกาย

บะละมินถิ่น เป็นชื่อของแม่ทัพคนสำคัญของพระเจ้ามังระในยุคแรกของราชวงศ์คอนบอง ช่วงสงครามพม่า-จีน ระหว่าง พ.ศ.2308-2312 โดยบะละมินถิ่นสามารถใช้กำลังทหารเพียง 7,000 นาย ต้านทานการบุกของกองทัพต้าชิงที่มีกำลังพลมากกว่า 20,000 นาย เอาไว้ได้ จนกองทัพต้าชิงต้องถอนทัพกลับไปในที่สุด สำหรับบทบาทของบะละมินถิ่นในประวัติศาสตร์ของกองทัพพม่า มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพที่นำกำลังทหารมาบุกตีกรุงศรีอยุธยา ในช่วงปลายสมัยของพระเจ้าอลองพญา.

สะพานบะละมินถิ่นแห่งแรก ที่ใช้งานมานานกว่า 25 ปี (ภาพจาก Myitkyina News Journal)

ตำแหน่งของสะพานบะละมินถิ่น ทางตอนเหนือของเมืองมิตจีนา


กำลังโหลดความคิดเห็น