xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียสนใจลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษพม่า ลงพื้นที่สำรวจทวาย-มะริด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR ออนไลน์ - รัสเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศร่วมกับจีนและอินเดียที่ส่งเสริมผลประโยชน์ในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นไปได้ในการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในภาคตะนาวศรี ทางตอนใต้

เมื่อต้นสัปดาห์ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำพม่าได้เดินทางไปยังเมืองทวาย เมืองเอกของภาคตะนาวศรี เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกับมุขมนตรีและประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

เมื่อเดือน มี.ค.2567 พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวกับสำนักข่าว ITAR-TASS ของรัสเซียว่า รัฐบาลของเขากำลังแสวงหาความช่วยเหลือจากมอสโกเพื่อเริ่มต้นโครงการท่าเรือในทวาย ที่มีความสามารถในการรองรับเรือที่มีขนาดเกิน 200,000 ตัน

การเยือนตะนาวศรีของเอกอัครราชทูตรัสเซียเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลทหารได้ประชุมหารือหลายครั้งเมื่อไม่นานนี้ ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเรียกร้องให้เร่งดำเนินการโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกในเมืองจอก์พยู รัฐยะไข่ อย่างเร่งด่วน รวมถึงการเยือนเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ของเอกอัครราชทูตอินเดีย เพื่อทบทวนตรวจสอบโครงการขนส่งหลายรูปแบบกะลาดัน ที่อินเดียให้การสนับสนุน

เมื่อต้นเดือนนี้ เอกอัครราชทูตจีนประจำพม่ายังได้พบกับมุขมนตรีภาคตะนาวศรีที่เกาะสอง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุน การประมง ไฟฟ้า การท่องเที่ยว การศึกษาด้านอาชีวศึกษา และสาขาอื่นๆ

เอกอัครราชทูตรัสเซียระบุว่า รัสเซียมีความสนใจในภาคการลงทุนและการท่องเที่ยวในตะนาวศรี โดยสอบถามเกี่ยวกับจุดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในมะริด เช่น ชายหาดและเกาะต่างๆ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนสถานที่เหล่านั้น และการลงทุนของท้องถิ่นและต่างชาติในโครงการโรงแรมในหมู่เกาะมะริด

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ในการประชุมคณะทำงานกลางเขตเศรษฐกิจพิเศษพม่า ที่กรุงเนปีดอ ประธานคณะทำงาน รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศ ได้ยกย่องเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายว่าเป็นศูนย์กลางการค้าที่มีศักยภาพสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเรียกร้องให้รักษาโมเมนตัมของโครงการนี้ไว้ และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

เขตเศรษกิจพิเศษทวายตั้งอยู่ในฝั่งทะเลอันดามัน และเชื่อมต่อกับอ่าวไทยด้วยถนนผ่านประเทศไทย เขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวอาจเชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก เชื่อมโยงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้และไกลออกไป

เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนี้อาจมีบทบาทสำคัญในระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของแม่น้ำโขงของญี่ปุ่น ที่มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมเวียดนาม กัมพูชา และไทย ไปยังภาคใต้ของพม่า

โครงการขนาด 196 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ ยังรวมถึงท่าเรือน้ำลึก และคาดว่าจะช่วยบริษัทต่างๆ ที่ต้องการขนส่งสินค้า เนื่องจากจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการขนส่งที่คาดการณ์ไว้เพื่อเลี่ยงช่องแคบมะละกาที่แออัด และยังรวมถึงเขตอุตสาหกรรมไฮเทค เขตเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์กลางการขนส่ง บริการทางธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

โครงการนี้เปิดตัวด้วยบันทึกความเข้าใจเมื่อปี 2551 ระหว่างไทยและรัฐบาลทหารพม่าชุดก่อน ที่ให้สัมปทาน 75 ปี แก่บริษัทอิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนท์ เพื่อก่อสร้างท่าเรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และดึงดูดการลงทุน มีการลงนามบันทึกความเข้าใจอีกฉบับในเดือน ก.ค.2555 และทั้งสองประเทศตกลงกันในปีนั้นว่าจะดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการเลื่อนออกไปหลายครั้ง คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายประกาศยกเลิกสัญญากับอิตาเลียน-ไทย ในเดือน ม.ค.2564 เพียง 1 เดือนก่อนการรัฐประหารในพม่า

ในเดือน พ.ย.2565 มิน อ่อง หลาย ลงพื้นที่เยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในช่วงต้นปี 2567 โซ วิน ผู้นำเบอร์สองของรัฐบาลทหารพม่าได้กล่าวในการประชุมคณะกรรมการกลางเขตเศรษฐกิจพม่าว่า พม่าต้องร่วมมือกับรัฐบาลไทย ที่แสดงความสนใจในโครงการนี้อีกครั้ง

ตั้งแต่นั้นมา รัสเซีย พันธมิตรหลักและผู้จัดหาอาวุธรายสำคัญของรัฐบาลทหารได้แสดงความสนใจในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ล่าช้ามาเป็นเวลานานแห่งนี้

ในขณะที่โครงการจอก์พยู ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนในรัฐยะไข่ ติดอยู่ในความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารและกองทัพอาระกัน ก็ยังมีความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างรัฐบาลทหารและกองกำลังปฏิวัติในภาคตะนาวศรี ที่ส่งผลให้เกิดข้อกังวลถึงความสามารถของรัฐบาลทหารในการดำเนินการโครงการที่หยุดชะงักนี้.

มุขมนตรีภาคตะนาวศรีมอบของที่ระลึกให้กับเอกอัครราชทูตรัสเซียระหว่างการประชุมหารือเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น