xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าทิ้งระเบิดถล่มหมู่บ้านในยะไข่ เพลิงผลาญบ้านเรือนกว่า 500 หลัง ดับอย่างน้อย 40

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - การโจมตีทางอากาศของรัฐบาลทหารพม่าทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คน ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ เจ้าหน้าที่กู้ภัยและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เผยกับเอเอฟพีวันนี้ (9)

กองทัพอาระกัน (AA) กำลังต่อสู้อย่างดุเดือดกับกองทัพพม่าเพื่อควบคุมรัฐยะไข่ ที่กองทัพอาระกันสามารถยึดครองดินแดนได้เป็นจำนวนมากในปีที่ผ่านมา และแทบตัดขาดเมืองสิตตะเว ที่เป็นเมืองเอกของรัฐ

ความขัดแย้งในยะไข่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของความโกลาหลนองเลือดที่กลืนกินพม่านับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจีออกจากอำนาจในปี 2564 ที่จุดชนวนให้เกิดการลุกฮือด้วยอาวุธอย่างกว้างขวาง

โฆษกของกองทัพอาระกันกล่าวกับเอเอฟพีว่าเครื่องบินรบของกองทัพพม่าทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านเจาก์นีมอ บนเกาะรามรี เมื่อเวลาประมาณ 13.20 น. ของวันพุธ (8) ทำให้เกิดไฟไหม้เผาผลาญบ้านเรือนมากกว่า 500 หลัง

“จากรายงานเบื้องต้น มีพลเรือนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 40 คน และได้รับบาดเจ็บ 20 คน” โฆษกของกองทัพอาระกัน กล่าว

ด้านสมาชิกของกลุ่มกู้ภัยที่ทีมของเขาเข้าช่วยเหลือผู้คนในที่เกิดเหตุกล่าวกับเอเอฟพีว่า มีผู้เสียชีวิต 41 คน และได้รับบาดเจ็บ 52 คน

ภาพถ่ายหลังจากการทิ้งระเบิดเผยให้เห็นผู้คนอยู่ในอาการมึนงงเดินไปตามซากปรักหักพังที่ไหม้เกรียมและยังมีควันขึ้น พื้นดินเต็มไปด้วยเศษหลังคาสังกะสี ต้นไม้หักโค่น และอาคารที่เหลือเพียงซากผนัง

เกาะรามรีเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกที่จีนสนับสนุน ที่เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะกลายเป็นประตูสู่มหาสมุทรอินเดียสำหรับปักกิ่ง แต่การก่อสร้างหยุดชะงักลงเนื่องจากความไม่สงบ

กองทัพพม่ากำลังดิ้นรนต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านการปกครองของตนในหลายแนวรบทั่วประเทศ และมักถูกกล่าวหาว่าใช้การโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่โจมตีชุมชนพลเรือน

นอกจากกองกำลังพิทักษ์ประชาชนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการรัฐประหารแล้ว กองทัพยังต้องต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์หลายกลุ่ม รวมถึงกองทัพอาระกัน ที่ควบคุมพื้นที่ขนาดใหญ่ตามแนวชายแดนของประเทศ

ในเดือน พ.ย. โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเตือนว่ารัฐยะไข่กำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะอดอยากเนื่องจากการต่อสู้ทำให้การค้าและการผลิตทางการเกษตรหยุดชะงัก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สหประชาชาติกล่าวว่าประชาชนมากกว่า 3.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่นจากความขัดแย้งในพม่า เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคนจากปีก่อน ขณะที่สำนักงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) คาดว่าประชาชน 19.9 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดมีแนวโน้มที่จะต้องการความช่วยเหลือในปี 2568.






กำลังโหลดความคิดเห็น