MGR Online - China Harbour Engineering บริษัทก่อสร้างรายใหญ่จากจีน ที่ชำนาญงานโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะ ได้สัญญาเข้าปรับปรุงพื้นที่ภายในท่าเรือตีละหว่า กรุงย่างกุ้ง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าของพม่า
วันที่ 3 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา BETV Business เพจที่เน้นข่าวด้านเศรษฐกิจและธุรกิจของพม่า รายงานว่า China Harbour Engineering (CHEC) หรือในชื่อจีนที่รู้จักกันคือ จงกั๋วกั่งวาน (中国港湾) บริษัทวิศวกรรมรายใหญ่จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เซ็นบันทึกข้อตกลงกับบริษัทเอกชนและองค์กรของพม่า 4 แห่ง ในโครงการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนของท่าเรือตีละหว่า ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำพะโคในเมืองสิเรียม หรือตานลยิน ทางตอนใต้ของกรุงย่างกุ้ง
บริษัทและองค์กรของพม่าที่ร่วมลงนามในบันทึกนี้ ประกอบด้วย สหพันธ์ข้าวเมียนมา หรือ MRF(Myanmar Rice Federation) บริษัท Myanmar Edible Oil Industrial Public Corporation(MEICO) บริษัท Myanmar Agribusiness Public Corporation(MAPCO) และบริษัท Myanma Agricultural and General Development Public Company Limited(MAGDPL) ส่วนฝั่งจีนเป็นบริษัท Myanmar China Harbour Engineering(MCHEC) ที่เป็นบริษัทลูกของ CHEC
รายละเอียดบางส่วนของการปรับปรุงพื้นที่ในท่าเรือตีละหว่าซึ่งต้องใช้เงินลงทุน 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,044 ล้านบาท ครั้งนี้ MCHEC จะสร้างสะพานเชื่อมจากท่าเรือต่อไปยังไซต์งานหมายเลข 27 ที่เป็นของ MEICO ไซต์งานหมายเลข 28 ของ MAPCO และไซต์งานหมายเลข 29 ของ MAGDPL รวมถึงปรับปรุงสะพานเชื่อมต่อและระบบสายพานลำเลียงจากท่าเรือไปยังโกดังหมายเลข 1 2 และ 3 ของสหพันธ์ข้าวเมียนมา
พล.อ.เมียะทุนอู รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร กล่าวว่า การปรับปรุงครั้งนี้เป็นความจำเป็นเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ต่างๆ ภายท่าเรือให้ทันสมัย เพื่อจะได้เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าของพม่า
อย่างไรก็ตาม ในเนื้อข่าวไม่ได้บอกรายละเอียดของการปรับปรุงพื้นที่ภายในท่าเรือตีละหว่าดังกล่าวว่า จะเริ่มต้นเมื่อใด และต้องใช้เวลาในการปรับปรุงนานเท่าไร
สำหรับ MEICO MAPCO และ MAGDPL ล้วนเป็นบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ของพม่า ขณะที่ China Harbour Engineering เป็นบริษัทวิศวกรรมที่ความชำนาญในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของจีน
ก่อนหน้านี้ เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2566 นายหวัง ถงโจว (Wang Tongzhou) ประธานบริษัท China Harbour Engineering ได้เดินทางมายังประเทศไทย และเข้าพบกับนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมแสดงความจำนงชัดเจนว่า China Harbour Engineering ต้องการมีส่วนร่วมในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ที่เป็นการสร้างโครงข่ายคมนาคมระหว่างจังหวัดระนองกับจังหวัดชุมพร เพื่อเชื่อมการขนส่งจากทะเลอันดามันมายังอ่าวไทย.