เอพี - รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนักโทษมากกว่า 6,000 คน และลดโทษผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการอภัยโทษครั้งใหญ่เนื่องในวันครบรอบ 77 ปี ของการได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันเสาร์ (4)
นักโทษที่ได้รับการปล่อยตัว ยังรวมถึงนักโทษการเมืองจำนวนหนึ่งจากหลายร้อยคนที่ถูกคุมขังจากการต่อต้านการปกครองของกองทัพนับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564 จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี การยึดอำนาจดังกล่าวเผชิญกับการต่อต้านด้วยสันติวิธีครั้งใหญ่ ที่ต่อมาได้กลายเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างกว้างขวาง
สถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐบาลรายงานว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารได้อภัยโทษนักโทษพม่า 5,864 คน ตลอดจนชาวต่างชาติ 180 คน ที่จะถูกเนรเทศ ซึ่งการปล่อยตัวนักโทษจำนวนมากเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติในช่วงวันหยุดและโอกาสสำคัญต่างๆ ในพม่า
เงื่อนไขการปล่อยตัวระบุว่าหากผู้ถูกคุมขังที่ได้รับการปล่อยตัวละเมิดกฎหมายอีกครั้ง พวกเขาจะต้องรับโทษตามโทษเดิมที่เหลืออยู่นอกเหนือไปจากโทษใหม่
ในรายงานอีกชิ้นหนึ่งระบุว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ลดโทษจำคุกตลอดชีวิตให้นักโทษ 144 คน เหลือจำคุก 15 ปี แต่รายงานไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับนักโทษเหล่านั้น
รายงานยังระบุว่านักโทษคนอื่นๆ ทั้งหมดจะได้รับการลดโทษ 1 ใน 6 ยกเว้นผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุระเบิด พระราชบัญญัติสมาคมผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติอาวุธ และพระราชบัญญัติต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเป็นกฎหมายที่มักใช้กับฝ่ายตรงข้ามการปกครองของทหาร
ซอ มิน ตุน โฆษกของรัฐบาลทหารกล่าวในข้อความเสียงถึงนักข่าวว่า ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวรวมถึงนักโทษประมาณ 600 คน ที่ถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 505(A) ของประมวลกฎหมายอาญาของพม่า ที่กำหนดให้การเผยแพร่ความคิดเห็นที่ก่อให้เกิดความไม่สงบหรือความหวาดกลัวในที่สาธารณะหรือการเผยแพร่ข่าวปลอมเป็นความผิดทางอาญา
เขากล่าวว่า เขต อ่อง อดีตมุขมนตรีรัฐกะฉิ่นเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว เขต อ่อง ถูกจับกุมตัวไม่นานหลังจากกองทัพเข้ายึดอำนาจ และถูกตัดสินจำคุก 12 ปี ในเดือน เม.ย.2565 ในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน
ซอ มิน ตุน ยังกล่าวว่า ชาวต่างชาติที่ได้รับการปล่อยตัวส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่ถูกจับกุมเกี่ยวกับการพนันในเมืองท่าขี้เหล็ก เมืองชายแดนทางตะวันออกของพม่า ส่วนชาวอินโดนีเซียที่ถูกจับกุมในข้อหาทำประมงในน่านน้ำของพม่าก็อยู่ในกลุ่มผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน
การปล่อยตัวนักโทษเริ่มขึ้นในวันเสาร์ (4) แต่จะใช้เวลา 2-3 วัน จึงจะแล้วเสร็จ ในนครย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ รถโดยสารหลายคันนำตัวนักโทษออกจากเรือนจำอินเส่ง ที่เพื่อนและญาติของผู้ต้องขังจำนวนมากต่างมายืนรอการปล่อยตัวตั้งแต่เช้า
ทั้งนี้ ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่ระบุว่าการปล่อยตัวนักโทษครั้งนี้จะรวมถึงอองซานซูจี ที่ถูกกองทัพควบคุมตัวโดยแทบไม่ได้ติดต่อกับใครเลยตั้งแต่ที่กองทัพยึดอำนาจ
ซูจี วัย 79 ปี กำลังรับโทษจำคุก 27 ปี หลังถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหลายคดีที่กองทัพฟ้องร้อง ซึ่งผู้สนับสนุนซูจี และนักวิเคราะห์อิสระระบุว่าคดีความที่ฟ้องร้องเธอเป็นความพยายามทำลายชื่อเสียงและทำให้การยึดอำนาจของกองทัพมีความชอบธรรม ขณะเดียวกัน ก็ขัดขวางไม่ให้เธอเข้าร่วมการเลือกตั้งตามที่กองทัพสัญญาไว้ ที่ยังไม่มีการกำหนดวันที่ชัดเจน
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่ามีผู้ถูกจับกุมในข้อหาทางการเมือง 28,096 คน นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ
พม่ากลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และได้รับเอกราชในวันที่ 4 ม.ค.2491
ในกรุงเนปีดอ เมืองหลวงของประเทศ รัฐบาลทหารของพม่าเฉลิมฉลองวันครบรอบด้วยพิธีชักธงที่ศาลากลาง.