เอเอฟพี - สหประชาชาติระบุว่าประชาชนมากกว่า 3.5 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นฐานจากความขัดแย้งทางอาวุธในพม่า เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคนจากปีก่อน และเตือนว่าวิกฤตด้านมนุษยธรรมของประเทศอาจเลวร้ายลง
นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในการรัฐประหารปี 2564 พม่าต้องเผชิญกับการสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จำนวนมากและกองทัพ
กลุ่มเหล่านี้ต่อสู้กับทหารมาตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองและการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ
“ความขัดแย้งแพร่กระจายจากชายแดนไปยังภูมิภาคส่วนใหญ่ทั่วประเทศทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตนเองเพื่อหาความปลอดภัยและตอบสนองความต้องการพื้นฐาน” สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุในคำแถลง
“ณ วันที่ 16 ธ.ค. คาดว่าประชาชนมากกว่า 3.5 ล้านคน หรือมากกว่า 6% ของประชากรทั้งหมด 57 ล้านคน ทั่วพม่ากลายเป็นผู้พลัดถิ่นในตอนนี้ และประมาณ 1 ใน 3 เป็นเด็ก” OCHA ระบุ และเสริมว่าตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
หน่วยงานระบุว่า ช่วงสุดท้ายของปี 2567 เต็มไปด้วยการสู้รบรุนแรงทั้งการโจมตีทางอากาศ การโจมตีด้วยโดรน การยิงปืนใหญ่ การบุกตรวจค้นและการจับกุมโดยพลการ และยังระบุว่า ปี 2568 มีแนวโน้มที่จะเลวร้าย โดยอ้างถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่เป็นผลจากความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ภัยพิบัติ การระบาดของโรค วัตถุระเบิดและทุ่นระเบิดที่ปนเปื้อนเป็นวงกว้าง และการล่มสลายทางเศรษฐกิจ
“หากแนวโน้มเหล่านี้ยังคงอยู่ต่อไป สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมจะเลวร้ายลงไปอีก ทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน” OCHA เตือน
สหประชาชาติประมาณการว่ามีประชากร 19.9 ล้านคนในพม่า หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรจะต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในปี 2568
OCHA ได้เริ่มรณรงค์ขอรับเงินทุน 1,100 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือผู้คน 5.5 ล้านคนในปี 2568 แต่การรณรงค์มักได้รับเงินทุนไม่เพียงพอ.