MGR ออนไลน์ - รายงานของสหประชาชาติระบุว่าประชากรพม่ามากกว่า 1 ใน 3 จะต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายในปี 2568 ที่สาเหตุหลักมาจากการอพยพเนื่องจากความขัดแย้งและภัยธรรมชาติในปี 2567
การประเมินดังกล่าวของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) เกิดขึ้นในขณะที่หน่วยงานของสหประชาชาติอีกแห่งหนึ่งคือโครงการอาหารโลก (WFP) ประณามรัฐบาลทหารพม่าจากรายงานที่ระบุว่าพบสิ่งของบรรเทาทุกข์อยู่ในค่ายทหารในรัฐยะไข่
UNOCHA เตือนว่า คาดว่าจำนวนผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือในพม่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% จาก 18 ล้านคนในเดือนก.พ. 2567 เป็น 19.9 ล้านคนในปี 2568 ที่คิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรพม่า 55.8 ล้านคน
ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่ตามข้อมูลของ UNOCHA ระบุว่ามีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือในพม่า
หน่วยงานได้อธิบายถึงการเติบโตดังกล่าวว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการอพยพพลัดถิ่นในปี 2567 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนของความต้องการด้านมนุษยธรรมในพม่า
UNOCHA กล่าวว่าวิกฤตด้านมนุษยธรรมเลวร้ายลง เนื่องจากการสู้รบที่รุนแรงขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง นับตั้งแต่การรัฐประหารของกองทัพ
วิน มัต เอ รัฐมนตรีด้านกิจกรรมมนุษยยธรรมและการจัดการภัยพิบัติของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่เป็นรัฐบาลเงาของพม่ากล่าวถึงการคาดการณ์ของสหประชาชาติ โดยระบุว่าสาเหตุหลักของวิกฤตคือการโจมตีพลเรือนของรัฐบาลทหาร ที่กำลังต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านการปกครองของกองทัพ
“ส่วนสาเหตุที่สองคือการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วงเวลาดังกล่าว” รัฐมนตรีจากรัฐบาลเงาระบุ ซึ่งรวมถึงไต้ฝุ่นยางิในเดือนก.ย. ที่เป็นพายุที่เลวร้ายที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่ผ่านมา
พายุยางิทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่ม ทำให้โรงเรียนและบ้านเรือนหลายหมื่นหลังได้รับความเสียหายในรัฐกะยาและรัฐชาน รวมถึงภาคมัณฑะเลย์ UNOCHA กล่าวว่าอุทกภัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 1 ล้านชีวิตใน 70 เมืองทั่วพม่า
“ปัจจัยสำคัญอีกประการคือกฎหมายเกณฑ์ทหารภาคบังคับ” วิน มัต เอ กล่าว โดยอ้างถึงกฎหมายที่รัฐบาลทหารประกาศใช้เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเสริมกำลังทหารที่ลดน้อยลงท่ามกลางความสูญเสียในสนามรบที่เพิ่มขึ้น
กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้ชายอายุ 18-35 ปี และผู้หญิงอายุ 18-27 ปี ต้องรับราชการทหารอย่างน้อย 2 ปี และนับตั้งแต่นั้นมา เยาวชนคนหนุ่มสาวก็พากันอพยพออกจากประเทศ
บันยาร์ เลขาธิการสภาบริหารชั่วคราวรัฐกะยา ยังตำหนิการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของรัฐบาลทหาร ที่ทำให้ประชาชนต้องนำเงินออมออกมาใช้เพื่อให้พอกับการใช้จ่าย
“สิ่งที่ประชาชนเคยเก็บ สะสม และแบ่งปัน ตอนนี้หมดไปแล้ว และตอนนี้พวกเขากำลังเผชิญกับวิกฤตที่เลวร้ายกว่า” บันยาร์ กล่าว
“เมื่อทรัพยากรทั้งหมดหมดลง แม้แต่ผู้ที่ไม่ยากจนก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ นี่คือสาเหตุที่ผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยชนมีจำนวนเพิ่มขึ้น” บันยาร์ ระบุ
การประเมินของ UNOCHA ยังสืบเนื่องจากรายงานเมื่อต้นเดือนธ.ค. ของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ที่พบว่าเด็กและครอบครัวในพม่าต้องการความช่วยเหลือช่วยชีวิตและบริการฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน
สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีได้ติดต่อ ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับรายงานของ UNOCHA แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ
อ่อง ทู นาย สมาชิกสภาบันยุทธศาสตร์และนโยบายพม่า กล่าวว่าสถานการณ์พม่าในปัจจุบันต้องได้รับการพิจารณาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางการเมือง
“หากเราประเมินว่าขณะนี้มีผู้คนประมาณ 20 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือ นั่นเท่ากับประมาณ 1ใน 3 ของประชากรของเรา รายงานบางฉบับยังระบุด้วยว่าครึ่งของประเทศอาศัยอยู่ในความยากจน นี่คือปัญหาที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ทั้งรัฐบาลทหารและฝ่ายค้านต้องพิจารณาอย่างจริงจัง” อ่อง ทู นาย กล่าว
ในเดือนมิ.ย. โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ผู้คน 42 ล้านคน หรือ 75% ของประชากรพม่า กำลังเผชิญกับความยากจน
ผลการศึกษาของ UNOCHA เกิดขึ้นในขณะที่โครงการอาหารโลก หรือ WFP แสดงความกังวลต่อข้อกล่าวหาว่าอาหารที่มอบให้กับรัฐบาลทหารเพื่อนำแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้ในพม่า ถูกพบในอาคารของกองกำลังรักษาชายแดนที่สนับสนุนรัฐบาลทหารในตอนเหนือของรัฐยะไข่
ในคำแถลงของ WFP ระบุว่าการยักยอกความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ตั้งใจจะมอบให้กับชุมชนที่เปราะบางที่สุดของพม่า ที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อช่วยชีวิตถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
ทั้งนี้ หน่วยงานยอมรับว่าทราบข้อกล่าวหาดังกล่าวผ่านรายงานสื่อ และไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวได้ เนื่องจากขาดการเข้าถึงพื้นที่ที่กองทัพกำลังปะทะกับกองทัพอาระกัน (AA)
กองทัพอาระกันที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวพุทธที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในรัฐยะไข่ มีความคืบหน้าอย่างมากในการโจมตียึดครองดินแดนในช่วงปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ชายแดนติดกับบังกลาเทศ ผ่านพื้นที่ตอนกลางไปจนถึงตอนใต้สุดของรัฐ
สำนักข่าวอาระกันเบย์นิวส์ (ABN) ที่เป็นสำนักข่าวในรัฐยะไข่ รายงานว่า หลังจากกองทัพอาระกันยึดฐานที่ 5 ของกองกำลังป้องกันชายแดนในเมืองหม่องดอได้เมื่อต้นเดือนธ.ค. ก็พบกับข้าวสารของโครงการอาหารโลกหลายพันกระสอบภายในสถานีดังกล่าว
รายงานระบุว่ากระสอบข้าวเหล่านี้ถูกกองกำลังทหารนำมาใช้เป็นแนวป้องกันการต่อสู้ของพวกเขา
โกดังเก็บอาหารของโครงการอาหารโลกที่ตั้งอยู่ห่างจากสถานีตำรวจไปทางตะวันตกราว 1.2 กิโลเมตรในย่านเมียวทูจี ก็ถูกบุกรุกและถูกเผาเมื่อเดือนมิ.ย.
โครงการอาหารโลกเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่าโกดังเก็บอาหารดังกล่าวมีอาหารฉุกเฉินจำนวน 1,175 ตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูคน 64,000 คน ได้เป็นเวลา 1 เดือน
กองทัพอาระกันเผยแพร่คลิปวิดีโอที่ถ่ายจากทางอากาศเมื่อเดือนมิ.ย. เผยให้เห็นว่าโกดังเก็บอาหารดังกล่าวถูกกองทัพของรัฐบาลวางเพลิง แต่รัฐบาลทหารปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง
โครงการอาหารโลกเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในการเคารพและปกป้องบุคลากรและทรัพย์สินด้านมนุษยธรรม
โครงการอาหารโลกยังเตือนว่าสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารโดยรวมในพม่าที่อยู่ในระดับน่าตกใจแล้ว ยังคงย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เนื่องจากความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินอยู่ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และภาวะเศรษกิจตกต่ำของประเทศ.