MGR ออนไลน์ - ฝนตกหนักและน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาทำให้เจดีย์โบราณราว 1,900 องค์ และวัดโบราณหลายแห่งในเมืองพุกาม ที่เป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก เสี่ยงที่จะพังถล่ม
ความเสื่อมโทรมของสิ่งปลูกสร้างทางศาสนาในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ที่หลายแห่งสร้างขึ้นระหว่างศตวรรษ 10-13 เป็นผลจากงานอนุรักษ์ที่ไม่เพียงพอสะสมมาเป็นเวลาหลายปี ตามการเปิดเผยของอดีตเลขาธิการสมาคมโบราณคดีพม่า
นอกจากนี้ การรัฐประหารของกองทัพเมื่อปี 2564 และการสู้รบที่เกิดขึ้นตามมาระหว่างกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในภูมิภาค ทำให้เขตโบราณคดีพุกามมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ
“ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของกรมโบราณคดีพุกามมีไม่เพียงพอ และไม่มีแผนแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน” อดีตเลขาธิการสมาคมฯ กล่าว และเสริมว่าพุกามเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ที่มีวัดและเจดีย์มากมาย แต่แรงงานที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ไม่มีกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาด้านนี้
เจดีย์และวัดในพุกามเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของพม่า ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวที่มักปีนขึ้นไปชมพระอาทิตย์ตกดินพร้อมทะเลเจดีย์ตามจุดต่างๆ
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2518 ทำให้เจดีย์และวัดในพื้นที่ได้รับความเสียหายมากกว่าครึ่งหนึ่ง
งานบูรณปฏิสังขรณ์เริ่มดำเนินการในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อรัฐบาลทหารชุดก่อนปกครองพม่า แต่การทำงานดังกล่าวถูกนักประวัติศาสตร์และนักอนุรักษ์ทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากการใช้วัสดุสมัยใหม่และไม่ยึดตามรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม
ในปี 2539 เจ้าหน้าที่พม่าได้ยื่นคำร้องขอให้แหล่งโบราณคดีและเจดีย์พุกามได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก แต่คำร้องดังกล่าวถูกปฏิเสธ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นเพราะการจัดการที่ไม่ดีและงานบูรณะที่ไม่เหมาะสม
ในที่สุด พุกามก็ได้รับการเพิ่มเข้าในรายชื่อมรดกโลกในปี 2562 แต่การดูแลด้านการอนุรักษ์ของพุกามส่วนใหญ่หยุดลงหลังการรัฐประหารในปี 2564 เมื่อทีมงานจากฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นถอนตัว
“ในอดีต เจดีย์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยอิฐที่อัดแน่นและเผาอย่างดี อัดเรียงเป็นชั้น ด้วยความเอาใจใส่ ที่เป็นเหตุผลว่าทำไมเจดีย์จึงยังคงอยู่แม้ผ่านกาลเวลามายาวนาน” ชาวพุกามที่ทำงานบูรณะเจดีย์ กล่าว
“หากเกิดการพังทลายเนื่องจากอายุ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ตอนนี้เจดีย์กำลังพังทลายก่อนเวลาอันควร และนั่นเป็นเพราะวิธีการ และที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพของวัสดุที่ใช้” ชาวพุกาม กล่าว.