รอยเตอร์ - ไทยได้แจ้งต่อรัฐบาลทหารพม่าว่าสมาชิกอาเซียนต้องการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้าร่วมในการเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารพม่าวางแผนไว้ว่าจะจัดขึ้นในปีหน้า เจ้าหน้าที่ไทยระบุวันนี้ (20)
“หากมีการเลือกตั้ง อาเซียนต้องการกระบวนการที่ครอบคลุมที่รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด” รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย กล่าวในการสัมภาษณ์กลุ่ม หลังการประชุมกับคู่เจรจาและนักการทูตระดับสูงของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
พม่าอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวายนับตั้งแต่ต้นปี 2564 เมื่อกองทัพโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่กลายเป็นการต่อต้านด้วยอาวุธ และขยายลุกลามไปทั่วประเทศ
กองทัพกำลังต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านในหลายแนวรบ และพยายามที่จะจัดการกับเศรษฐกิจที่พังทลาย หลังจากเคยถูกมองว่าเป็นตลาดชายขอบที่น่าสนใจก่อนที่บรรดานายพลจะยุติการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาได้เพียงทศวรรษของประเทศ
ในสัปดาห์นี้ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเกี่ยวกับวิกฤตพม่า 2 นัด โดยนัดแรกมีรัฐบาลทหารพม่าและประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วม ได้แก่ จีน บังกลาเทศ และอินเดีย ตามด้วยการประชุมอีกนัดหนึ่งกับประเทศสมาชิกอาเซียน
เมื่อวันพฤหัสฯ รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าได้สรุปให้ผู้เข้าร่วมการประชุมทราบถึงแผนงานทางการเมืองของรัฐบาลทหารและความคืบหน้าในการจัดการเลือกตั้ง ที่นักวิจารณ์มองว่าเป็นเรื่องหลอกลวง เนื่องจากฝ่ายค้านไม่มีส่วนร่วม
“ประเทศเพื่อนบ้านกล่าวว่าเราสนับนุนพม่าในการหาทางออก แต่การเลือกตั้งจะต้องครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ในประเทศ” มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ระบุ และย้ำว่าเพื่อนบ้านของพม่าจะให้คำแนะนำ แต่ไม่แทรกแซง
เขากล่าวว่า ความพยายามเหล่านี้จะสนับสนุนแผนสันติภาพในพม่าของอาเซียน หรือ ‘ฉันทมติ 5 ประการ’ ที่เป็นแผนปฏิบัติการในการคลี่คลายความขัดแย้งของกลุ่มที่คืบหน้าเพียงเล็กน้อย
ข้อเสนอการเลือกตั้งของพม่ายังเป็นส่วนหนึ่งของการหารือระหว่างสมาชิกอาเซียนในการประชุมวันศุกร์ ที่รัฐบาลทหารพม่าไม่ได้เข้าร่วม เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุ
อาเซียนยังคงรอรายละเอียดการเลือกตั้งจากฝั่งพม่า เจ้าหน้าที่ไทยระบุ และเสริมว่าอาเซียนยังต้องหาจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงที่เสนอ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่มีอิทธิพลในภูมิภาค เช่น จีน
รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวระหว่างการประชุมเมื่อวันพฤหัสฯ ว่าทุกฝ่ายควรสนับสนุนพม่าในการผลักดันกระบวนการสันติภาพและความปรองดอง และทุกฝ่ายในพม่าควรแก้ไขข้อขัดแย้งความแตกต่างผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือ กระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุ.