เอเอฟพี - สหประชาชาติเผยว่าการผลิตฝิ่นในพม่าลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2564 แต่พม่ายังคงเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดในโลก
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ฝิ่นเติบโตเฟื่องฟูมาอย่างยาวนานอยู่ในพื้นที่ชายแดนห่างไกลของพม่า ที่กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และกลุ่มอาชญากรนำฝิ่นมาแปรรูปเป็นเฮโรอีน และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพิกเฉยต่อการค้ามูลค่านับพันล้านดอลลาร์
เมื่อปีที่ผ่านมา พม่ากลายเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยเก็บเกี่ยวฝิ่นได้ 1,080 ตัน มากกว่าอัฟกานิสถานที่เคยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดมาก่อนถึง 2 เท่า หลังจากรัฐบาลตอลิบานปราบปรามการปลูกฝิ่น
พม่าผลิตฝิ่น 995 ตัน ในปี 2567 ตามการระบุของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)
เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยของ UNODC กล่าวในการแถลงข่าวว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างการเก็บเกี่ยวที่ลดลงและความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ปลูกฝิ่นดั้งเดิม
พื้นที่บางส่วนของรัฐชานทางตะวันออก ที่ผลิตฝิ่นประมาณ 80% ของการผลิตทั้งหมด พัวพันกับการสู้รบในปีนี้ ที่การสำรวจฝิ่นพม่าปี 2567 ระบุว่าการต่อสู้ดังกล่าวทำให้เกษตรกรปลูกฝิ่นจำนวนมากละทิ้งไร่ของพวกเขา
ข้อจำกัดเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ห่างไกลและฤดูมรสุมรุนแรงยังถูกอ้างว่าเป็นปัจจัยที่อาจทำให้ปริมาณฝิ่นลดลง
รายงานยังพบอีกว่าอุปทานส่วนเกินในตลาดเฮโรอีนในภูมิภาคและการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลกของยาเสพติด อาจทำให้ความต้องการในการส่งออกฝิ่นลดลงและส่งผลให้ราคาลดลง
แต่ UNODC กล่าวว่าการเก็บเกี่ยวในปีนี้ยังคงเป็นการเก็บเกี่ยวครั้งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของพม่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นแหล่งรายได้หลักของพม่า
เศรษฐกิจพม่าตกต่ำลงนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 1% ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค.2568
ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่ามีความเสี่ยงสูงที่การผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานปรับตัวและวิธีการเพาะปลูกได้รับการปรับปรุง
รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของพม่ากล่าวกับสื่อของรัฐในเดือน มิ.ย. ว่าทางการกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการควบคุมการปลูกฝิ่น
การรัฐประหารจุดชนวนความวุ่นวายทางสังคมและเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางอาวุธทั่วประเทศ และทำให้ผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่น ตามข้อมูลของสหประชาชาติ.