รอยเตอร์ - ปลาบึกยักษ์หายาก 6 ตัวถูกจับได้ในกัมพูชา ภายในเวลา 5 วัน โดยบางตัวมีน้ำหนักมากกว่า 120 กิโลกรัม เหตุการณ์ที่เพิ่มความหวังของการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งสายพันธุ์นี้ ที่เป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
เมื่อวันอังคาร (10) ที่ผ่านมา ปลาบึกยักษ์โตเต็มวัย 3 ตัว ถูกจับได้ในแม่น้ำโขงภายในวันเดียวกัน โดยมีน้ำหนักระหว่าง 95-131 กิโลกรัม โดย 2 ตัวในนั้นมีความยาวมากกว่า 2 เมตร
ปลาบึกทั้ง 3 ตัว ถูกวัดขนาดและติดแท็กติดตามก่อนถูกปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของปลาไว้
โครงการ Wonders of the Mekong ที่เป็นโครงการอนุรักษ์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ ระบุว่าการจับปลาบึกยักษ์ได้หลายตัวภายในเวลาเพียงไม่กี่วันนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าทึ่งและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“ผมไม่เคยยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน” เซป โฮเกน นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเนวาดา เรโน หัวหน้าโครงการ กล่าว
“การติดแท็กปลาเหล่านี้ทำให้เราได้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับระบบนิเวศ การอพยพ และแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมัน เพื่อพยายามช่วยให้ปลาเหล่านี้มีชีวิตรอดต่อไปในอนาคต” โฮเกน กล่าว
ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้า มีการจับปลาบึกยักษ์ได้อีก 3 ตัว ซึ่งทั้ง 3 ตัวถูกติดแท็กและปล่อยคืนแม่น้ำเช่นเดียวกัน โดยหนึ่งตัวถูกปล่อยในแม่น้ำโขง และอีก 2 ตัวปล่อยในแม่น้ำโตนเลสาบใกล้กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา
ปลาบึกยักษ์บางตัวมีน้ำหนักมากถึง 300 กิโลกรัม และมีความยาว 3 เมตร
การจับปลาบึกยักษ์ในครั้งนี้บ่งชี้ถึงกิจกรรมการวางไข่ในแม่น้ำโขงในกัมพูชา และผลของการทำงานอนุรักษ์เป็นเวลา 25 ปี ของกลุ่มที่ร่วมมือกับองค์กรด้านการประมงและชุมชนท้องถิ่น
โครงการ Wonders of the Mekong ระบุว่า การจับปลาบึกยักษ์ครั้งนี้ช่วยเพิ่มความหวังของการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่หาได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ ในแหล่งที่อยู่อาศัยหลายแห่ง.