MGR ออนไลน์ - สำนักข่าวกัมพูชาหลายแห่งรายงานว่า นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทชายแดนเกาะกูดกับไทย โดยระบุอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลกัมพูชาจะไม่ประนีประนอมบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักร
ผู้นำเขมรได้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. โดยระบุว่าการเจรจาประเด็นเรื่องชายแดนต้องใช้เวลาและการเตรียมการอย่างรอบคอบ
“สิ่งนี้คือความรับผิดชอบของเรา และเราจะไม่สูญเสียดินแดนหรืออธิปไตย โปรดไว้ใจเราในเรื่องนี้” ผู้นำกัมพูชา กล่าว
ฮุน มาเนต กล่าวเสริมว่ารัฐบาลกัมพูชาใช้วิถีทางที่ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบและมีวุฒิภาวะ ไม่ตอบสนองอย่างหุนหันพลันแล่น
“ปัญหาเกาะกูดต้องได้รับการแก้ไขอย่างมีวุฒิภาวะทางการเมืองและความรับผิดชอบ โดยให้ความสำคัญกับบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของชาติเป็นอย่างแรก” ฮุน มาเนต กล่าว
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาชี้แจงว่า การเจรจาระหว่างกัมพูชาและไทยยังคงดำเนินต่อไป และยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ ดังนั้นการอ้างว่าเสียเกาะกูดให้ไทยนั้นไม่มีมูลความจริง และย้ำว่าการตอบสนองอย่างใจเย็นของรัฐบาลนั้นเป็นความตั้งใจ ด้วยมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาผ่านช่องทางทางการทูต มากกว่าที่จะเพิ่มความตึงเครียด
“การคิดถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราต้องเข้าใจว่าเมื่อใดควรดำเนินการและดำเนินการอย่างไร” ฮุน มาเนต ระบุ
รัฐบาลกัมพูชาดำเนินการแก้ไขปัญหาชายแดนด้วยการใช้กลไกอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก หรือกลไกสื่อ ฮุน มาเนต กล่าวเสริม และว่ากลไกการแก้ไขอย่างเป็นทางการคือกลไกที่ตกลงกันโดยรัฐบาลกัมพูชาและไทย คือคณะกรรมการเขตแดนร่วม (JBC) และคณะกรรมการเทคนิคร่วม (JTC) ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ทำหน้าที่เจรจาเรื่องการกำหนดเขตแดนทางบกและกำหนดเขตแดนทางทะเล
“ขณะนี้ชายแดนกัมพูชา-ไทย บรรลุข้อตกลงเพียงพรมแดนทางบก ที่ครอบคลุมระยะทาง 805 กิโลเมตร และหลักเขต 73 หลัก รัฐบาลของทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงไปแล้ว 42 หลัก” ฮุน มาเนต กล่าว และว่าประเด็นเรื่องเกาะกูดยังอยู่ระหว่างเจรจา ยังไม่มีข้อตกลงใดๆ ดังนั้น เกาะนี้จึงยังไม่ถูกยกให้ใคร
เขายอมรับว่ามีความคิดเห็นและคำวิจารณ์มากมายเกี่ยวกับปัญหาเกาะกูดจากไทย แต่เน้นย้ำว่ารัฐบาลจะไม่นำไฟเข้ามาในบ้านของตัวเอง
ฮุน มาเนต เสริมว่ากัมพูชาและไทยได้เจรจากันมาตั้งแต่ปี 2549 เกี่ยวกับการกำหนดเขตแดน แต่การหารือเกี่ยวกับดินแดนทางบกและทางทะเลยังไม่เสร็จสิ้นและยังคงดำเนินต่อไป
ขณะเดียวกัน ฮุนเซน ประธานสภาสูงของกัมพูชา ได้วิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองฝ่ายค้านในต่างประเทศที่พยายามเปลี่ยนประเด็นเกาะกูดให้กลายเป็นความขัดแย้งชายแดนระหว่างกัมพูชาและไทยผ่านการยุยงปลุกปั่นประชาชน แม้ว่าสองรัฐบาลจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยสันติ
ทั้งนี้ อดีตผู้นำเขมรยังได้กล่าวย้อนถึงเรื่องการเจรจาร่วมกันกับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เรื่องการเจาะน้ำมันที่เกาะกูด แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในแผนนี้ และในปี 2544 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ แต่ไม่มีการหารืออย่างละเอียดในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา
“รัฐบาลทั้งสองประเทศกำลังเจรจากันอย่างสันติเกี่ยวกับปัญหาเกาะกูด แต่ในไทย กลุ่มหัวรุนแรงเรียกร้องให้รัฐบาลอ้างสิทธิเกาะกูดจากกัมพูชา ขณะที่กลุ่มฝ่ายค้านหัวรุนแรงของกัมพูชาในต่างประเทศเรียกร้องให้ชาวกัมพูชาเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลฟ้องศาลระหว่างประเทศเพื่อเรียกร้องเกาะกูดคืน” ฮุนเซน กล่าว
ฮุนเซนกล่าวว่า ความพยายามของฝ่ายค้านในต่างประเทศครั้งนี้อาจส่งผลร้ายแรงต่อประเทศ
“ครั้งแล้วครั้งเล่าที่กลุ่มฝ่ายค้านกดดันประชาชนและขัดขวางไม่ให้พวกเขาอยู่กันอย่างสันติ ด้วยการปลุกระดมให้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล บางทีอาจถึงเวลาที่ต้องตราพวกเขาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะพวกเขากำลังยุยงให้เกิดความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างกัมพูชาและไทย” อดีตผู้นำเขมร กล่าว
นอกจากนี้ ฮุนเซนยังเรียกร้องให้ชาวกัมพูชาและชาวไทยเชื่อมั่นในรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายในการแก้ไขปัญหาเกาะกูดด้วยสันติวิธี และขอให้กองทัพบกและกองทัพเรือกัมพูชาไม่ระดมกำลังเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว
อดีตผู้นำเขมรเตือนว่าบาดแผลจากสงครามที่ปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือน และปราสาทตากระบัย และความทุกข์ทรมานของประชาชนกัมพูชาและไทยจากการสูญเสียคนรักหรือได้รับบาดเจ็บจากสงครามเหล่านั้นยังคงไม่สิ้นสุด
“การยุติข้อพิพาทจะดำเนินต่อไป แต่ด้วยการเจรจา เรายังไม่ได้ใช้ความเป็นไปได้ทั้งหมดของการเจรจาทวิภาคี” ฮุนเซน กล่าว.