เอเอฟพี - กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ในพม่ากลุ่มที่ 2 ระบุว่าพวกเขาพร้อมเข้าร่วมการเจรจากับรัฐบาลทหารที่มีปักกิ่งเป็นคนกลางเพื่อยุติการสู้รบที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปี ที่ทำลายพื้นที่ตามแนวชายแดนจีน
กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (MNDAA) ที่มีกำลังพลราว 8,000 นาย ได้ต่อสู้กับกองทัพพม่าเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองให้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์โกก้างในรัฐชานตอนเหนือ
เมื่อปีที่ผ่านมา MNDAA และกลุ่มติดอาวุธพันธมิตรอีก 2 กลุ่ม ได้เปิดฉากโจมตีกองทัพและยึดพื้นที่บางส่วนของรัฐชาน รวมถึงเหมืองทับทิม และเส้นทางการค้าสำคัญไปยังจีน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) ที่เป็นพันธมิตรของ MNDAA ระบุว่าพวกเขาพร้อมที่จะเจรจากับกองทัพ
“ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะหยุดยิงทันที และจะไม่โจมตีกองทัพพม่า” MNDAA ระบุในคำแถลงที่เผยแพร่คืนวันอังคาร (3)
“ภายใต้การไกล่เกลี่ยของจีน เรายินดีที่จะเข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพกับกองทัพพม่าเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น เมืองล่าเสี้ยว” MNDAA ระบุ โดยอ้างถึงเมืองเมืองที่กลุ่มยึดไว้ได้ในเดือน ส.ค. ที่ถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของรัฐบาลทหาร
“MNDAA ยินดีที่จะส่งคณะผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมการเจรจาและปรึกษาหารือกับกองทัพพม่าและแก้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกต่างผ่านวิถีทางทางการเมือง” คำแถลงระบุ
โฆษกของรัฐบาลทหารไม่ได้ตอบกลับเมื่อเอเอฟพีติดต่อขอความเห็นเกี่ยวกับคำแถลงของ MNDAA
รัฐบาลทหารไม่ได้ตอบกลับข้อเสนอของ TNLA ต่อสาธารณะ และสื่อท้องถิ่นยังคงรายงานเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ที่ TNLA ยึดครองอยู่
ด้านกองทัพอาระกัน (AA) ที่เป็นกลุ่มที่ 3 ในพันธมิตรกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ยังคงต่อสู้กับกองทัพในรัฐยะไข่ ทางชายฝั่งภาคตะวันตกของพม่า ที่เป็นที่ตั้งของโครงการท่าเรือที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนและอินเดีย
จีนเป็นพันธมิตรหลักและผู้จัดหาอาวุธให้รัฐบาลทหาร แต่ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ยึดครองดินแดนใกล้กับชายแดนจีน
จีนเรียกร้องซ้ำๆ ให้ยุติการสู้รบในรัฐชาน จุดเชื่อมโยงหลักในโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ของปักกิ่ง
เมื่อต้นเดือน ปักกิ่งกล่าวว่าผู้นำของ MNDAA ได้เดินทางมาที่จีนเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล หลังมีรายงานข่าวในพม่าว่าเขาถูกจับกุมตัวตามคำสั่งของจีน
พม่าเป็นที่อยู่ของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์นับสิบกลุ่มที่ต่อสู้กับกองทัพมานานหลายทศวรรษเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองและควบคุมทรัพยากรที่ทำกำไร เช่น หยก ไม้ และฝิ่น
กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่ม รวมถึง TNLA ได้ให้ที่พักพิงและการฝึกอบรมแก่กองกำลังพิทักษ์ประชาชน ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับกองทัพหลังการยึดอำนาจในการรัฐประหารปี 2564.