เอพี - รัฐบาลทหารพม่าเพิ่มการโจมตีหมู่บ้านที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งฆ่าตัดหัว ข่มขืน และทรมาน โดยเหยื่อยังรวมทั้งผู้หญิง เด็ก และคนชรา ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าของสหประชาชาติระบุในรายงานฉบับใหม่
โทมัส แอนดรูว์ส อดีตสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ จากรัฐเมน กล่าวในรายงานต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า รัฐบาลทหารได้ตอบสนองต่อความพ่ายแพ้ของกองทัพและการสูญเสียดินแดนด้วยการใช้อาวุธทันสมัยกับพลเรือน และพยายามทำลายเมืองที่ตนไม่ได้ควบคุม
เขาเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าว่า “วิกฤตที่มองไม่เห็น” เนื่องจากโลกมุ่งความสนใจไปที่อื่น
“การกระทำทารุณโหดร้ายที่ทวีความรุนแรงต่อประชาชนพม่าเกิดขึ้นจากรัฐบาลที่อนุญาตหรือสนับสนุนให้มีการถ่ายโอนอาวุธ วัสดุสำหรับอาวุธ และเชื้อเพลิงเครื่องบินให้กองกำลังของรัฐบาลทหาร” แอนดรูว์ส ระบุ
แอนดรูว์ส ไม่ได้ระบุชื่อรัฐบาลเหล่านั้น แต่เขากล่าวชื่นชมสิงคโปร์ที่ปราบปรามการถ่ายโอนอาวุธ ที่ทำให้บริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ลดลงถึง 90% และกล่าวว่าการคว่ำบาตรที่กำหนดขึ้นโดยสหรัฐฯ ต่อธนาคารที่รัฐบาลทหารควบคุมได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของกองทัพ
เขาเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ จัดการกับวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมที่เลวร้ายของพม่า ด้วยการหยุดส่งอาวุธใหรัฐบาลทหาร เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ผู้คนนับล้านที่ต้องการ และสนับสนุนความพยายามในการนำผู้กระทำผิดมารับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
พม่าเต็มไปด้วยความรุนแรงนับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในปี 2564 และปราบปรามการชุมนุมประท้วงอย่างโหดร้าย ที่จุดชนวนให้เกิดการต่อต้านด้วยอาวุธและการสู้รบทั่วประเทศ โดยกองทัพใช้การโจมตีทางอากาศตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น
กองทัพกำลังกำลังต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชนที่ตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย
กองทัพเคยกล่าวว่า พวกเขาโจมตีเฉพาะเป้าหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายของสงครามเท่านั้น และกล่าวหาว่ากองกำลังติดอาวุธที่ต่อต้านพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย
แอนดรูว์สกล่าวว่าแผนของรัฐบาลทหารที่จะจัดการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2568 เป็นเรื่องไร้สาระ และเป็นความพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ชอบธรรมและบรรเทาแรงกดดันจากนานาประเทศ เขาเตือนว่าความพยายามที่หลอกลวงนี้ไม่เพียงน่ารังเกียจเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายด้วย เนื่องจากอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงและความรุนแรงในระดับที่สูงขึ้น
ประชาชนมากกว่า 3.1 ล้านคนต้องพลัดถิ่นเนื่องจากความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหาร และประชาชน 18.6 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึง 13.3 ล้านคนที่กำลังเผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับฉุกเฉิน
เขากล่าวว่ากองทัพได้สังหารพลเรือนไปมากกว่า 5,800 คน ทำลายบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างพลเรือนมากกว่า 100,000 หลัง และคุมขังนักโทษการเมืองมากกว่า 21,000 คน
“กองกำลังของรัฐบาลทหารได้สังหารพลเรือนในการโจมตีภาคพื้นดิน รวมถึงการสังหารหมู่คนที่อยู่ในการควบคุมของกองกำลังทหารอยู่แล้ว เหยื่อถูกทรมาน ถูกข่มขืน ถูกตัดหัว และถูกเผา” แอนดรูว์ส กล่าว
แอนดรูว์สยังระบุว่าสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ที่อยู่ทางตะวันตกของพม่านั้น เลวร้ายและอันตรายที่สุด
เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว กองทัพอาระกันได้เริ่มโจมตีกองทัพในรัฐยะไข่ และสามารถเข้าควบคุมเมืองต่างๆ ได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง
กองทัพอาระกัน เป็นกองกำลังติดอาวุธของขบวนการชนกลุ่มน้อยยะไข่ ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของพันธมิตรกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่พยายามโค่นล้มกองทัพ
ในรายงาน แอนดรูว์สระบุว่ากองทัพอาระกันถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงการโจมตีแบบไม่เลือกหน้า การสังหาร การใช้ความรุนแรงทางเพศ และการจับกุมโดยพลการ
เขายังกล่าวอีกว่ากองทัพตอบสนองต่อการสูญเสียอย่างต่อเนื่องในรัฐยะไข่ด้วยการโจมตีพลเรือนและเพิ่มความตึงเครียดระหว่างชาวยะไข่และชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา
พม่าถือว่าชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาเป็นชาวเบงกาลีจากบังกลาเทศมายาวนาน แม้ว่าครอบครัวของโรฮิงญาจะอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม เกือบทั้งหมดถูกปฏิเสธสถานะพลเมืองตั้งแต่ปี 2525
ในเดือน ส.ค.2560 การโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบโรฮิงญาต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพม่าได้จุดชนวนให้เกิดการดำเนินการอย่างโหดร้ายจากกองทัพ ที่ขับไล่โรฮิงญาอย่างน้อย 740,000 คน ให้อพยพไปยังบังกลาเทศ กองทัพถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหมู่ สังหาร และเผาบ้านเรือนหลายพันหลัง
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารได้เกณฑ์ชายชาวโรฮิงญาหลายพันคนและส่งพวกเขาไปยังแนวหน้าเพื่อต่อสู้กับกองทัพอาระกัน และกลุ่มทหารอาสาโรฮิงญาดำเนินการตามรัฐบาลทหารและละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวยะไข่
แอนดรูว์สเตือนว่าประชาชนหลายแสนคนในรัฐยะไข่ถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างสิ้นเชิง และตกอยู่ในอันตรายจากถูกทอดทิ้ง อดอยาก และเจ็บป่วย หากไม่มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมฉุกเฉินในทันทีจะเท่ากับโทษประหารต่อผู้บริสุทธิ์จำนวนนับไม่ถ้วน
เขากล่าวว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราวของบังกลาเทศ ที่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 1 ล้านคนอาศัยอยู่ ได้เรียกร้องให้อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ จัดการประชุมกับผู้มีส่วนสำคัญทั้งหมดในวิกฤตโรฮิงญา และยูนุสได้กดดันให้ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับพม่า
แอนดรูว์สเรียกร้องให้กูเตอร์เรสเรียกประชุมเพื่อดึงความสนใจจากทั่วโลกและระดมทรัพยากร และดำเนินการที่จำเป็นเพื่อช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมากที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง.