เอเอฟพี - องค์กรเฝ้าระวังเผยวันนี้ (20) ว่าทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดได้คร่าชีวิตผู้คนในพม่ามากกว่าประเทศอื่นใดในโลกในปีที่ผ่านมา โดยมีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คนในประเทศ
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ที่ยาวนานหลายทศวรรษระหว่างกองทัพและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้เต็มไปด้วยทุ่นระเบิดและกระสุน
แต่การโค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจีในปี 2564 ของกองทัพทำให้ความขัดแย้งในประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้น และก่อให้เกิดกองกำลังพิทักษ์ประชาชนหลายสิบกลุ่มที่กำลังต่อสู้เพื่อโค่นล้มกองทัพ
ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและเศษซากระเบิดจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บในพม่า 1,003 คน ในปี 2566 ตามการระบุขององค์กรรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อห้ามการใช้ทุ่นระเบิด (ICBL)
ICBL ระบุในรายงานสังเกตการณ์ฉบับล่าสุดว่า มีผู้บาดเจ็บล้มตายจากทุ่นระเบิดในซีเรีย 933 คน ในอัฟกานิสถาน 651 คน และในยูเครน 580 คน
ทั้งนี้ พม่าไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติที่ห้ามการใช้ สะสม หรือพัฒนาทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
ICBL ระบุว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กองทัพพม่าใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงรอบๆ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และท่อส่งพลังงาน โดยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มักตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายตรงข้ามทหาร
กองทัพพม่าถูกกล่าวหาว่ากระทำทารุณกรรมและก่ออาชญากรรมสงครามในช่วงเวลาของความขัดแย้งภายในประเทศที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ
ICBL กล่าวว่า พบหลักฐานว่ากองกำลังทหารของรัฐบาลบังคับให้พลเรือนเดินนำหน้าหน่วยของตนเพื่อเคลียร์พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด
ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่าประชาชนมากกว่า 3 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นในพม่าจากความขัดแย้งหลังการรัฐประหาร ขณะที่กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติระบุในเดือน เม.ย. ว่าทุกฝ่ายในการสู้รบกำลังใช้ทุ่นระเบิดอย่างไม่เลือก
ด้านกลุ่มติดอาวุธกล่าวกับเอเอฟพีว่าพวกเขายังวางทุ่นระเบิดในบางพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพวกเขาด้วย
รายงานของ ICBL ยังระบุว่าในปี 2566 มีคนบาดเจ็บล้มตายอย่างน้อย 5,757 คน จากทุ่นระเบิดและเศษซากระเบิดจากสงครามทั่วโลก ในจำนวนดังกล่าว เป็นผู้เสียชีวิต 1,983 คน และได้รับบาดเจ็บ 3,663 คน โดยเหยื่อทั้งหมดที่บันทึกไว้เป็นพลเรือนถึง 84%.