MGR ออนไลน์ - กระทรวงแรงงานพม่าได้ออกกฎเกณฑ์ใหม่อนุญาตให้ทางการเรียกตัวแรงงานชาวพม่าที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศกลับเข้ารับราชการทหาร และกำหนดให้หน่วยงานจัดหางานที่ส่งคนงานไปต่างประเทศต้องรับผิดชอบในการนำคนงานกลับประเทศหากได้รับคำสั่ง หน่วยงานจัดหางานเปิดเผยความเคลื่อนไหวดังกล่าวกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี
นับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจากการรัฐประหารในปี 2564 ชาวพม่าหลายพันหลายหมื่นคนได้อพยพไปต่างประเทศเพื่อหลีกหนีเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ความรุนแรง และตั้งแต่ต้นปีนี้ ยังมีภัยคุกคามจากกฎหมายเกณฑ์ทหาร ในขณะที่กองทัพกำลังต่อสู้กับกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหาร
ในขณะที่หลายคนพยายามเสี่ยงโชคของพวกเขา และเดินทางไปต่างประเทศด้วยความหวังที่จะได้งานทำ หลายคนหางานผ่านบริษัทจัดหางาน ที่หาคนงานไปทำงานในต่างประเทศผ่านข้อตกลงที่พม่าทำไว้กับรัฐบาลประเทศต่างๆ
กระทรวงแรงงานได้ออกกฎระเบียบใหม่ โดยสั่งให้บริษัทจัดหางานรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในการรับราชการทหารของคนงานเหล่านั้น และออกสัญญาใหม่ให้คนงานและนายจ้างต่างชาติที่ต้องตกลงว่าคนงานจะสามารถถูกเรียกตัวกลับมารับใช้ชาติได้ พนักงานของบริษัทจัดหางานในย่างกุ้งระบุ
“บริษัทจัดหางานได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการเกณฑ์ทหารของพวกเขา หลังจากที่เรารับหน้าที่นั้น รัฐบาลมีวิธีเรียกตัวพวกเขากลับมาได้หลายวิธี ซึ่งเป็นเรื่องที่กดดันมาก ถ้าคนงานที่เราส่งไปถูกเรียกตัวกลับ ปัญหาจะเริ่มขึ้นหากพวกเขาไม่กลับมา” พนักงานคนเดิม กล่าว
แหล่งข่าวจากบริษัทจัดหางานระบุว่า ภายใต้กฎระเบียบดังกล่าว คนงานจะถูกเรียกตัวกลับได้หลังจากผ่านไปแล้ว 2 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลว่ากฎใหม่นี้อาจถูกเพิกเฉยได้ง่าย
เมื่อเดือน ก.พ. รัฐบาลทหารได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร โดยกำหนดให้ผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี และผู้หญิงอายุระหว่าง 18-27 ปี ต้องรับใช้ชาตินานสูงสุด 3 ปี หลังจากกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ที่ต่อสู้เพื่อโค่นล้มการปกครองของกองทัพเปิดฉากโจมตีและได้เปรียบอย่างมาก
กฎหมายดังกล่าวส่งผลให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากหลบหนีไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น ไทย และทางการพม่าได้ควบคุมตัวและบังคับเกณฑ์คนที่ถูกส่งตัวกลับพม่า และยังหันไปหาผู้ต้องขังและแม้แต่ผู้เยาว์ เพื่อเติมเต็มตำแหน่งที่ว่างลง ตามการระบุของพยานและชาวบ้านในชุมชนบางแห่ง
เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลทหารยังสั่งให้คนงานพม่าในลาวและไทยจ่ายเงินจากเงินเดือนของพวกเขาเพื่อเสริมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และบริษัทจัดหางานมีความเสี่ยงที่จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตหากไม่รวบรวมเงินโอนจากคนงานเหล่านั้น และทางการทหารได้ประกาศใช้มาตรการเข้มงวดกับผู้ใดก็ตามที่ถูกจับได้ว่าหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร
กลุ่มวิจัยอิสระ Burma Affairs and Conflict Study ระบุในรายงานเดือน ต.ค. ว่า มีผู้ถูกเกณฑ์ทหาร 21,000 คน ในค่ายฝึก 23 แห่งทั่วประเทศ.