เอพี - กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุในรายงานฉบับใหม่ว่ากองทัพพม่าโจมตีพลเรือนและชุมชนของพวกเขาอย่างต่อเนื่องเพื่อลงโทษหมู่ในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจเมื่อต้นปี 2564
รายงานระบุว่า การโจมตีทางอากาศในหมู่บ้านต่างๆ ที่นักวิจัยจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศได้ตรวจสอบ เป็นสัญลักษณ์ของการโจมตีพลเรือนในวงกว้างทั่วประเทศ เจมส์ โรดเฮเวอร์ หัวหน้าทีมพม่าของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำกรุงเทพฯ กล่าวเมื่อวันศุกร์พร้อมกับการเผยแพร่รายงานฉบับดังกล่าว
ทั้งนี้ ทหารพม่าไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานดังกล่าว แต่ในอดีตเคยกล่าวว่ากองทัพโจมตีเฉพาะเป้าหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายสงครามเท่านั้น และกล่าวหาว่ากองกำลังต่อต้านเป็นผู้ก่อการร้าย
พม่าเผชิญกับความรุนแรงนับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในเดือน ก.พ.2564 และปราบปรามการชุมนุมประท้วงอย่างสันติด้วยความรุนแรง ที่จุดชนวนให้เกิดการต่อต้านด้วยอาวุธและการสู้รบในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยกองทัพเพิ่มการใช้การโจมตีทางอากาศตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามและยึดครองดินแดน
กองทัพเป็นฝ่ายตั้งรับการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ของประเทศ รวมถึงกลุ่มกองโจรติดอาวุธหลายร้อยกลุ่ม ที่เรียกรวมๆ ว่ากองกำลังพิทักษ์ประชาชน ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้ฟื้นฟูประชาธิปไตย
องค์กรสิทธิมนุษยชนและผู้สืบสวนสหประชาชาติพบหลักฐานว่ากองกำลังความมั่นคงโจมตีพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้าและไม่สมส่วนด้วยระเบิด การสังหารหมู่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวระหว่างปฏิบัติการ และการเผาทำลายบ้านเรือนพลเรือนเป็นจำนวนมาก
ตามรายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ที่รวบรวมข้อมูลการจับกุมและการโจมตีทางการเมือง ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพทั่วประเทศอย่างน้อย 540 คน รวมทั้งเด็ก 109 คน ระหว่างเดือน ม.ค.-ต.ค.ปีนี้
กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยงระบุว่ามีการโจตีทางอากาศ 227 ครั้งในหมู่บ้าน โรงเรียน สถานพยาบาลใน 7 อำเภอ ในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่สมาชิกกลุ่มกองโจรจากกองกำลังกะเหรี่ยงหลักต่อสู้กับทหาร
กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยงระบุว่า ข้อมูลในรายงานมาจากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน 22 คน รวมถึงผู้นำหมู่บ้าน 6 คน ที่เคยเผชิญหรือเป็นพยานในเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศ กลุ่มสิทธิยังสัมภาษณ์องค์กรภาคประชาสังคมในท้องถิ่น และเอ็นจีโอที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ รวมถึงจากเอกสารและรายงานที่รวบรวมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาด้วย
กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยงยังระบุว่ามีพลเรือนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างน้อย 417 คน จากการโจมตีทางอากาศทั้งหมด 227 ครั้งในพื้นที่พลเรือน ขณะที่ผู้ที่มิใช่พลเรือนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศเพียง 22 คนเท่านั้น
นอกจากบ้านเรือนของพลเรือนแล้ว ยังมีสิ่งปลูกสร้างทางศาสนาอย่างน้อย 67 แห่ง โรงเรียน 42 แห่ง และสถานพยาบาล 14 แห่ง ได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย รายงานระบุ และเสริมว่ารัฐบาลทหารดำเนินการโจมตีทางอากาศหลายครั้งและในวิธีที่ไม่ปกติ
“บางครั้งมีการใช้ระเบิดจำนวนจำกัดโจมตีชาวบ้านและสิ่งปลูกสร้างในชุมชนของพวกเขาโดยตรง ขณะที่บางครั้งเป็นการระดมทิ้งระเบิดและกระสุนจำนวนมากในพื้นที่เป็นวงกว้าง รวมทั้งหมู่บ้านและไร่นาหลายแห่ง” รายงานระบุ
การโจมตีพลเรือนหรือวัตถุของพลเรือนโดยตรงถือเป็นอาชญากรรมสงคราม และอาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
รายงานระบุว่า กองทัพไม่สามารถแยกแยะระหว่างสมาชิกกองกำลังติดอาวุธและชาวบ้านได้ และในบางกรณี การโจมตีทางอากาศดูเหมือนจะดำเนินการเพื่อลงโทษหมู่ต่อกิจกรรมทางทหารของกลุ่มต่อต้านท้องถิ่น
กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยงยังระบุว่ากองทัพล้มเหลวในการเตือนหรือใช้มาตรการป้องกันอื่นๆ เพื่อลดจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้เกือบทั้งหมด
โรดเฮเวอร์ระบุว่า กองทัพพม่ามักตอบโต้พลเรือนซ้ำๆ เมื่อกองกำลังของตนพ่ายแพ้อย่างยับเยินในสนามรบ.