xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพแรงงานระดับโลกยื่นร้องเรียน 3 แบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำ เหตุยังจัดหาเสื้อผ้าจากพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สหภาพแรงงานระดับโลกประกาศว่าได้ยื่นร้องเรียนแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำ 3 แบรนด์ คือ Next, New Yorker และ LPP โดยกล่าวหาว่าแบรนด์เสื้อผ้าเหล่านี้ยังคงจัดหาเสื้อผ้าจากพม่าที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร

สหภาพแรงงาน IndustriALL Global Union ที่มีสำนักงานอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่าองค์กรและสหภาพแรงงานอีก 2 แห่งที่ถูกแบนในพม่า คือ CTUM และ IWFM ได้ยื่นร้องเรียนแบรนด์เสื้อผ้า 3 แบรนด์ โดยกล่าวหาว่าแบรนด์เหล่านี้ละเมิดแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่รับผิดชอบที่ตกลงกันในระดับสากล

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 บริษัทไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นจากเอเอฟพี

IndustriALL ระบุว่า ตามแนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาได้เรียกร้องให้บริษัทข้ามชาติดำเนินงานอย่างมีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบในด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินการเช่นนั้นในพม่า ที่ประเทศอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจีในปี 2564 และดำเนินการปราบปรามที่นำไปสู่การลุกฮือด้วยอาวุธ

IndustriALL ที่เป็นกลุ่มตัวแทนของคนงานกว่า 50 ล้านคนผ่านสหภาพแรงงานในเครือกว่า 600 แห่ง ได้ออกคำแถลงเตือนว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลายเป็นช่องทางสำคัญที่ผู้ปกครองทหรของพม่าอัดฉีดเงินจากต่างประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่กำลังล่ม

“ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารของพม่าได้สั่งห้ามสหภาพแรงงาน และจับกุมผู้นำสหภาพแรงงาน” IndustriALL ระบุ และย้ำว่าไม่มีเสรีภาพในการสมาคม และสหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานอื่นๆ ไม่สามารถดำเนินการได้

ข้อร้องเรียนที่ยื่นต่อองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในอังกฤษ เยอรมนี และโปแลนด์ ที่สำนักงานใหญ่ของ 3 บริษัทตั้งอยู่ รวมถึงในเนเธอร์แลนด์ ชี้ให้เห็นถึงรายงานการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรงและค่าจ้างที่ลดลง

“แบรนด์ต่างๆ ที่ยังอยู่ในพม่าได้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว การบังคับใช้แรงงาน และการเอาเปรียบ มีรายงานที่ครอบคลุมและแพร่หลายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของแรงงานอย่างกว้างขวาง” เลขาธิการ IndustriALL ระบุ

“การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างละเอียดถี่ถ้วนต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของแรงงานและการตรวจสอบที่เป็นอิสระ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ภายใต้การปกครองของทหาร” เลขาธิการ IndustriALL ระบุ

IndustriALL กำลังรณรงค์ให้แบรนด์ต่างๆ เลิกลงทุนในพม่า

ในปี 2565 การหารือที่จัดขึ้นกับแบรนด์เสื้อผ้าขนาดใหญ่หลายรายได้ข้อสรุปพร้อมข้อตกลงเกี่ยวกับการเลิกจ้างอย่างรับผิดชอบในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

“มีหลักฐานสำคัญถึงการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบและแบรนด์ต่างๆ ที่ยังคงอยู่ในพม่าไม่สามารถอ้างว่าไม่รู้เห็นเรื่องการละเมิดดังกล่าว แบรนด์ที่ยังอยู่ในพม่าให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน” เลขาธิการ IndustriALL ระบุ และเสริมว่าสหภาพกำลังพิจารณาการร้องเรียนเพิ่มเติมกับแบรนด์ที่ยังคงอยู่ในพม่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น