เอเอฟพี - ผู้นำคณะรัฐบาลทหารพม่าเดินทางถึงจีนวันนี้ (5) ที่เป็นการเยือนจีนครั้งแรกนับตั้งแต่นำการรัฐประหารในปี 2564 แต่นักวิเคราะห์ระบุว่าคำเชิญดังกล่าวอาจเป็นเพียงการรับรองอย่างไม่เต็มใจจากพันธมิตรสำคัญของเขาและอาจได้ผลตรงข้ามจากที่หวังไว้
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย อยู่ที่เมืองคุนหมิงเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) กลุ่มประเทศที่ประกอบด้วยจีน พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ที่จะเริ่มขึ้นในวันพุธ (6)
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะพบหารือกับเจ้าหน้าที่จีนเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและหลายภาคส่วน รัฐบาลทหารพม่าระบุวานนี้ (4)
เมื่อกองทัพโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในปี 2564 สื่อจีนปฏิเสธที่จะระบุว่าเป็นการรัฐประหาร แต่อ้างว่าเป็นการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่
จีนเคียงข้างรัฐบาลทหารนับตั้งแต่นั้น แม้ว่าบางประเทศจะเมินเฉยต่อนายพลที่ปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างโหดร้าย ที่ฝ่ายต่อต้านระบุว่ายังรวมถึงการสังหารพลเรือน ทำลายหมู่บ้านด้วยการโจมตีทางอากาศและการระดมยิงปืนใหญ่
ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสของ Crisis Group กล่าวว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ล็อบบี้เพื่อขอคำเชิญอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเพื่อแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุน
แต่ปักกิ่งได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายของการประชุมที่คุนหมิงโดยกล่าวว่าต้องการปรึกษาหารือกับทุกฝ่ายในสถานการณ์ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังอ่อนแอและความวุ่นวายทางภูมิรัฐศาสตร์
“แม้ว่าคำเชิญร่วมการประชุมสุดยอดนี้หมายถึงการยอมรับในฐานะประมุขของรัฐ แต่ก็ไม่มีน้ำหนักทางการทูตเท่ากับการเชิญเยือนปักกิ่งในระดับทวิภาคี” ฮอร์ซีย์ กล่าวกับเอเอฟพี
การเดินทางของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เกิดขึ้นในขณะที่กองทัพกำลังเผชิญกับการโจมตีของกลุ่มต่อต้านติดอาวุธที่ได้เข้ายึดครองพื้นที่ต่างๆ ที่มีขนาดเกือบเท่าบอสเนีย โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ชายแดนจีน
นักวิเคราะห์ระบุว่าปักกิ่งกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัฐบาลทหารจะสูญเสียอำนาจและสงสัยถึงอิทธิพลของตะวันตกในกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนประชาธิปไตยบางกลุ่มที่ต่อสู้กับกองทัพ
พม่าเป็นส่วนสำคัญของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมูลค่าล้านล้านดอลลาร์ของปักกิ่ง ที่ทางรถไฟและท่อส่งน้ำมันเชื่อมต่อภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่ไร้ทางออกสู่ทะเลเข้ากับมหาสมุทรอินเดีย
“ปักกิ่งแสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการให้กองทัพพม่าประสบความสำเร็จ” เจสัน ทาวเวอร์ จากสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐฯ กล่าว
จีนไม่เต็มใจที่จะให้การรับรองอย่างเป็นทางการอย่างชัดเจนตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไป
“จีนหันมาให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารมากขึ้น ไม่ใช่เพราะจีนมีใจโอนเอียงให้รัฐบาลหรือผู้นำมากขึ้น แต่เป็นเพราะกังวลกับการล่มสลายของอำนาจอย่างไม่เป็นระเบียบในกรุงเนปีดอ” เจสัน ทาวเวอร์ ระบุ
แต่ความสัมพันธ์นี้กำลังพังลงจากความไม่ไว้วางใจที่มีมายาวนาน
แหล่งข่าววงในระบุว่าผู้นำระดับสูงในรัฐบาลทหารระมัดระวังจีน เนื่องจากปักกิ่งเคยให้การสนับสนุนการก่อกบฏของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในช่วงทศวรรษ 1960-1970
ด้านผู้สนับสนุนกองทัพระบุว่า จีนยังให้การสนับสนุนโดยปริยายต่อการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธเมื่อปีก่อน แลกกับที่กลุ่มติดอาวุธทลายขบวนการหลอกลวงออนไลน์ในดินแดนที่พวกเขายึดครอง
ขบวนการหลอกลวงออนไลน์เหล่านั้นดำเนินการและมุ่งเป้าไปที่พลเมืองจีน ในอุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ที่สร้างความไม่พอใจให้ปักกิ่งอย่างมาก
แต่กลุ่มติดอาวุธยังคงเดินหน้าผลักดันต่อไปและในเดือน ส.ค. ได้เข้ายึดเมืองล่าเสี้ยว ที่อยู่ห่างจากใจกลางศูนย์หลอกลวงออนไลน์ไม่กี่กิโลเมตร และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการทหารระดับภูมิภาค
การเสียเมืองล่าเสี้ยว ที่มีประชากรราว 150,000 คน ให้กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (MNDAA) เป็นสิ่งที่มากเกินไปสำหรับปักกิ่ง ทาวเวอร์ระบุ
แหล่งข่าวใกล้ชิดกับ MNDAA กล่าวกับเอเอฟพีว่า จีนได้ตัดไฟฟ้า น้ำ และอินเทอร์เน็ตในบ้านเกิดของ MNDAA ที่อยู่บริเวณชายแดนติดกับมณฑลยูนนานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“การเยือนจีนไม่น่าจะแก้ไขปัญหาภายในของมิน อ่อง หล่าย ได้ และอาจสร้างปัญหาใหม่ เนื่องจากมีแนวโน้มที่นายพลจะถูกมองว่าให้สัมปทานทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่กับปักกิ่งแลกกับความช่วยเหลือของจีน” ทาวเวอร์ ระบุ
หนึ่งในข้อเรียกร้องจากปักกิ่งคือเร่งจัดการเลือกตั้ง ที่รัฐบาลทหารให้สัญญาไว้ ทาวเวอร์ระบุ การเลือกตั้งที่รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนประกาศสนับสนุนเมื่อเดือน ส.ค.
ฝ่ายต่อต้านการเลือกตั้งกล่าวว่าการเลือกตั้งจะไม่เสรีและไม่ยุติธรรม ในขณะที่การปะทะกันยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ และพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ถูกห้ามเข้าร่วม.