xs
xsm
sm
md
lg

มาเลเซียร้องเรียนเวียดนามปมขยายแนวปะการังในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - มาเลเซียได้ส่งจดหมายร้องเรียนถึงเวียดนามเกี่ยวกับการขยายแนวปะการังในทะเลจีนใต้ ที่ทั้งสองประเทศต่างอ้างสิทธิ ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ 2 คน ที่นับเป็นความตึงเครียดทวิภาคีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักและไม่เกี่ยวข้องกับจีน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเผยให้เห็นข้อพิพาทอีกกรณีที่เกิดขึ้นในน่านน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้ ที่จีนอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ และปักกิ่งมักเกี่ยวข้องในความขัดแย้งกับฟิลิปปินส์และเวียดนามอยู่เป็นระยะ

พื้นที่ที่มีการแข่งขันอ้างสิทธิมากที่สุดอยู่ที่บริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่จีน ไต้หวัน มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน และฟิลิปปินส์ต่างอ้างสิทธิและยึดครองพื้นที่ในระดับต่างๆ

จดหมายของมาเลเซียถูกส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามในต้นเดือน ต.ค. แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ เจ้าหน้าที่ 2 คนระบุ และปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดเนื่องจากเป็นประเด็นละเอียดอ่อน

ข้อร้องเรียนดังกล่าวมีขึ้นเนื่องจากการขยายแนวปะการังบาร์ค แคนาดา ที่เป็นเกาะเล็กๆ ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเวียดนามได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ตามภาพถ่ายดาวเทียมที่วิเคราะห์โดยศูนย์การศึกษากลยุทธ์และระหว่างประเทศ (CSIS) สถาบันคลังสมองในวอชิงตันที่เผยแพร่เมื่อเดือนก่อน และในปลายเดือน ต.ค. สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีรายงานว่าเวียดนามกำลังสร้างรันเวย์บนแนวปะการังดังกล่าวด้วย

กระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามไม่ได้ตอบกลับคำขอความคิดเห็นของรอยเตอร์ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียก็ไม่ได้แสดงความเห็นเช่นกัน

จดหมายร้องเรียนมีขึ้นก่อนการเผยแพร่รายงานเหล่านั้นและวิจารณ์เพียงการขยายแนวปะการังเท่านั้น ไม่ใช่การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เจ้าหน้าที่รายหนึ่งระบุ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หมู่เกาะสแปรตลีย์มีการก่อสร้างสำคัญเกิดขึ้น เนื่องจากประเทศต่างๆ พยายามเสริมการอ้างสิทธิในดินแดนของตนและพิสูจน์ว่าพวกเขาสามารถรักษาการอยู่อาศัยของผู้คนบนเกาะเล็กๆ หลายสิบแห่งได้

แต่กิจกรรมของจีนได้รับความสนใจมากที่สุด ที่ประกอบด้วยเกาะเทียม 7 เกาะที่สร้างขึ้นบนแนวปะการังใต้น้ำ โดยบางเกาะมีรันเวย์ ท่าเรือ หอควบคุม และฐานขีปนาวุธ

แม้การร้องเรียนระหว่างมาเลเซียและเวียดนามเกี่ยวกับดินแดนจะไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่มาเลเซียก็ออกมาโต้แย้งอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับสิ่งที่มาเลเซียระบุว่าเป็นการรุกล้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศของชาวประมงเวียดนาม จนนำไปสู่การจับกุมลูกเรือบางส่วน.
กำลังโหลดความคิดเห็น