เอพี - นักโบราณคดีในกัมพูชาขุดพบรูปสลักหินทรายอายุหลายร้อยปีจำนวน 12 ชิ้นใน ‘การค้นพบอันน่าทึ่ง’ ที่แหล่งมรดกโลกเมืองพระนคร (อังกอร์) ใกล้กับเมืองเสียมราฐ เจ้าหน้าที่กัมพูชาระบุ
โฆษกขององค์การอัปสราแห่งชาติ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ดูแลอุทยานโบราณคดีกล่าวว่า รูปสลักที่ระบุว่าเป็นทวารบาล ถูกค้นพบเมื่อสัปดาห์ที่แล้วใกล้กับประตูทิศเหนือที่นำไปสู่พระราชวังหลวงสมัยศตวรรษที่ 11 ในนครธม เมืองหลวงแห่งสุดท้ายของอาณาจักรขอม
การค้นพบรูปสลักหินทรายเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะที่ทีมงานกำลังประเมินโครงสร้างของประตูโบราณและค้นหาหินที่ร่วงหล่นรอบๆ ประตูด้านเหนือของนครธม ที่เป็นหนึ่งใน 4 ทางเข้าไปยังกลุ่มปราสาท
รูปสลักที่พบเป็นทวารบาลในท่ายืนตรงและมีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่ประมาณ 1 เมตร ไปจนถึง 110 เซนติเมตร ถูกฝังอยู่ที่ความลึก 1.4 เมตร โดยรูปสลักบางรูปยังอยู่ในสภาพดีอย่างน่าประหลาดใจ และแต่ละชิ้นมีเครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ที่ช่วยเพิ่มความโดดเด่น นักโบราณคดีกล่าว
“ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ารูปสลักทวารบาลเหล่านี้เป็นตัวอย่างของศิลปะแบบคลัง ซึ่งสอดคล้องกับการก่อสร้างพระราชวังในศตวรรษที่ 11” องค์การอัปสราแห่งชาติ กล่าว
นครธมเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานโบราณคดีอังกอร์ ที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 400 ตารางกิโลเมตร ได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโกในปี 2535 และเป็นจุดหมายปลายของนักท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภายในอุทยานประกอบด้วยซากปรักหักพังของเมืองหลวงของอาณาจักรขอมตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ถึงศตวรรษที่ 15 รวมถึงปราสาทนครวัด
การขุดค้นทางโบราณคดีนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การอัปสราและทีมงานของรัฐบาลจีน-กัมพูชาเพื่อการปกป้องเมืองพระนคร หลังการค้นพบรูปสลัก ทีมโบราณคดีได้บันทึกตำแหน่งของรูปสลักอย่างระมัดระวังก่อนเคลื่อนย้ายไปทำความสะอาดและบูรณะ จากนั้นรูปสลักเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปยังที่ตั้งเดิม เจ้าหน้าที่ระบุ
อุทยานโบราณคดีอังกอร์ตั้งอยู่ใกล้เมืองเสียมราฐ ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 320 กิโลเมตร ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 500,000 คน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ตามการระบุของกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา.