เอเอฟพี - กล้องดักถ่ายภาพสามารถจับภาพสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ได้หลายชนิดภายในเทือกเขากระวานที่เป็นพื้นที่ที่ถูกคุกคามสูงของกัมพูชาได้เป็นครั้งแรก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปกป้องพื้นที่ดังกล่าว ที่มีการสร้างเขื่อนหลายแห่ง นักอนุรักษ์ระบุ
ภาพที่ถ่ายไว้ได้ตั้งแต่เดือน ก.พ. ถึงเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว แสดงให้เห็นสัตว์ป่าทั้งหมด 108 สายพันธุ์ โดย 23 สายพันธุ์ถูกจัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือเลวร้ายกว่านั้น ตามบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (CI) ระบุว่า นี่เป็นการศึกษากล้องดักถ่ายครั้งแรกของอุทยานแห่งชาติเทือกเขากระวานตอนกลางที่ได้รับการคุ้มครอง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเตือนว่าสัตว์มากกว่า 500 สายพันธุ์ในเทือกเขากระวานตอนกลางเผชิญกับภัยคุกคามหลายอย่าง ตั้งแต่การลักลอบตัดไม้ การล่าสัตว์ผิดกฎหมาย ไปจนถึงขุดลอกทราย
โครงการเขื่อนไฟฟ้าหลายแห่งสร้างขึ้นในพื้นที่ใกล้อุทยานแห่งชาติ ที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากนักอนุรักษ์
“เทือกเขากระวานเป็นสวรรค์สำหรับสายพันธุ์สัตว์เหล่านี้ ที่นี่เป็นที่หลบภัยหนึ่งในแห่งสุดท้ายในโลก เป็นเหมือนฐานที่มั่นของสัตว์สายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้” ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคอาวุโสของ CI กล่าวกับเอเอฟพี
กล้องที่ซ่อนไว้สามารถจับภาพนกได้ 65 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 38 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลาน 5 ชนิด ตามรายงานร่วมของ CI กระทรวงสิ่งแวดล้อมของกัมพูชา และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
ในบรรดาสัตว์ที่จับภาพได้นั้นยังรวมถึงหมาใน ช้างเอเชีย และเสือไฟ ส่วนสัตว์สายพันธุ์หายากอื่นๆ ที่บันทึกได้ ประกอบด้วยเสือลายเมฆ แมวลายหินอ่อน หมีหมา และหมีควาย
ทั้งนี้ มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายไว้ทั้งหมด 147 ตัว บันทึกคลิปวิดีโอ 55,000 คลิป และภาพสัตว์ป่า 22,200 ภาพ ระหว่างเดือน ก.พ.-ธ.ค.2566
ผู้นำวิจัยของ CI ระบุในคำแถลงว่า แม้กล้องดักถ่ายภาพจะจับภาพสัตว์ได้ถึง 108 สายพันธุ์ แต่ก็เป็นเศษเสี้ยวของสัตว์ที่มีอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่ออนุรักษ์ขุมทรัพย์แห่งความหลากหลายทางชีวภาพนี้อย่างเหมาะสม
รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชากล่าวในคำแถลงว่าทางการกำลังดำเนินการป้องกันความหลากหลายทางชีวภาพและการฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัย
รัฐบาลกัมพูชาถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่อนุญาตให้บริษัทต่างๆ ถางป่าหลายแสนเฮกตาร์ในประเทศ รวมถึงในพื้นที่คุ้มครอง เพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ตั้งแต่สวนยางพาราและไร่อ้อย ไปจนถึงเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ.