เอพี - กองกำลังติดอาวุธ 3 กลุ่มที่เปิดฉากโจมตีร่วมกันอย่างไม่มีใครคาดคิดในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าเมื่อปีก่อน สร้างความตกตะลึงให้กองทัพพม่าที่ต่างคุมเชิงกันอยู่ ด้วยการเข้ายึดครองพื้นที่เป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นแรงบันดาลใจใหกลุ่มต่อต้านอื่นๆ ในการเปิดฉากโจมตีทั่วประเทศ
แม้กองทัพพม่าจะมีกองกำลังทหารและอาวุธที่เหนือกว่ากลุ่มต่อต้าน บวกกับได้รับการสนับสนุนทางวัตถุจากรัสเซียและจีน แต่ปัจจุบันนี้ รัฐบาลกำลังเสียเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสูญเสียด่านหน้า ฐานทัพ และเมืองยุทธศาสตร์หลายสิบแห่ง ที่แม้แต่ผู้นำของกองทัพเองก็ยังยอมรับว่าเป็นการยากที่จะยึดพื้นที่เหล่านั้นคืน
“กองทัพกำลังตั้งรับอยู่ทั่วประเทศ และทุกครั้งที่ทุ่มสรรพกำลังไปยังส่วนหนึ่งของประเทศ ก็ทำให้พื้นที่อื่นๆ ตกอยู่ในความเสี่ยง สำหรับเราแล้ว ดูเหมือนว่ากองทัพจะไม่มีวิถีทางใดที่จะยึดคืนดินแดนที่เสียไปได้” คอนเนอร์ แมคโดนัลด์ จากสภาที่ปรึกษาพิเศษว่าด้วยกิจการพม่า ระบุ
กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในเดือน ก.พ.2564 ที่ก่อให้เกิดการสู้รบที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ตามพื้นที่ชายแดน ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองมานานหลายทศวรรษ
การยึดอำนาจของกองทัพยังจุดชนวนให้เกิดการก่อตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งพวกเขาสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่เป็นฝ่ายต่อต้าน ที่ตั้งขึ้นจากสมาชิกสภาที่ได้รับการเลือกตั้งแต่ถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งหลังจากกองทัพยึดอำนาจ
แต่ก่อนที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จะเปิดฉากโจมตีในปฏิบัติการ 1027 ที่ตั้งชื่อตามวันเริ่มต้นของปฏิบัติการในวันที่ 27 ต.ค. กองทัพยังคงสามารถป้องกันการสูญเสียสำคัญได้เป็นส่วนใหญ่
ปฏิบัติการ 1027 เป็นการโจมตีประสานของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม หรือที่รู้จักในชื่อ พันธมิตรสามภราดรภาพ ซึ่งประกอบด้วยกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า กองทัพอาระกัน และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง ซึ่งพันธมิตรกลุ่มนี้ได้เข้าโจมตียึดเมืองต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และบุกยึดด่านหน้าและฐานทัพของกองทัพตามแนวชายแดนจีนในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐชาน
สองสัปดาห์ต่อมา กองทัพอาระกันเปิดฉากโจมตีในรัฐยะไข่ ที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขาทางตะวันตกของประเทศ และนับจากนั้นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธและกองกำลัง PDF อื่นๆ ก็เข้าร่วมการโจมตีทั่วประเทศ
หนึ่งปีหลังการบุกโจมตีของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เริ่มขึ้น กองกำลังต่อต้านสามารถเข้าควบคุมดินแดนตามแนวชายแดนได้ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยเริ่มต้นจากรัฐยะไข่ทางตะวันตก ทอดยาวไปทางเหนือและจากนั้นมุ่งลงใต้สู่รัฐกะยา และรัฐกะเหรี่ยง ตามแนวชายแดนไทย กองทัพพม่าได้ถอยร่นไปยังพื้นที่ตอนกลางของประเทศ รอบๆ กรุงเนปีดอ และนครย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ
“ผมไม่เคยคิดว่าเป้าหมายของเราจะบรรลุได้เร็วขนาดนี้ เราคิดแค่ว่าเราจะโจมตีสภาทหารไปพร้อมกันเท่าที่สามารถทำได้ แต่กลับทำได้ง่ายกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นเราจึงสามารถยึดครองพื้นที่ต่างๆ ได้เร็วขึ้น” ลเว เย อู โฆษกกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอางกล่าวกับสำนักข่าวเอพี
ตลอดช่วงการต่อสู้ กองทัพพม่าประสบกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินหลายครั้ง รวมถึงการสูญเสียเมืองเล่าก์ก่าย ในการโจมตีที่กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่าจับกุมทหารได้มากกว่า 2,000 นาย รวมถึงนายพล 6 นาย และเมืองล่าเสี้ยว ที่เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกองทัพ
“ปฏิบัติการ 1027 เป็นปฏิบัติการที่น่าประทับใจ มีความซับซ้อน และการใช้โดรนมีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะโดรนสามารถทำลายเครือข่ายฐานสนับสนุนการยิงของกองทัพทั่วรัฐชานเหนือ” มอร์แกน ไมเคิลส์ นักวิเคราะห์จากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษากลยุทธ์ ที่ดำเนินการโครงการแผนที่ความขัดแย้งพม่า ระบุ
“จากนั้นเมื่อการสนับสนุนปืนใหญ่ของกองทัพลดลง พวกเขาก็โจมตีเป้าหมายได้ยากขึ้น ทั้งเมืองและกองบัญชาการ” ไมเคิลส์ ระบุ และเสริมว่าแม้หนึ่งปีต่อมา กองทัพพม่าจะอ่อนแอลงอย่างมาก แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปเรื่องนี้
กองทัพพม่าสามารถยึดเมืองกอลินในภาคสะกายกลับคืนมาได้ ซึ่งเมืองนี้เสียไปในช่วงแรกๆ ของปฏิบัติการ 1027 พวกเขาสามารถต้านทานการโจมตีของกองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 3 กลุ่มที่เมืองลอยก่อ เมืองเอกของรัฐกะยา และยังสามารถรักษาการบริหารเมืองเมียวดี ที่เป็นจุดผ่านแดนสำคัญกับไทยเอาไว้ได้ หลังพ่ายให้กับการโจมตีของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง โดยได้ความช่วยเหลือจากกองกำลังติดอาวุธคู่แข่ง
หลายคนคาดว่ากองทัพจะเปิดฉากโจมตีตอบโต้เมื่อฤดูฝนใกล้สิ้นสุด จากการเสริมกำลังทหารใหม่ 30,000 นาย ตั้งแต่เริ่มบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารในเดือน ก.พ. และระดมใช้การโจมตีทางอากาศ
แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มต่อต้านก็กำลังรุกคืบเข้าใกล้เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่า ที่อยู่ใจกลางประเทศ โดยโฆษกของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอางระบุว่า แม้ว่าพวกเขาจะเสียเปรียบในด้านอาวุธ แต่พวกเขามีพละกำลัง ประสบการณ์ที่ได้มาอย่างยากลำบาก และความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
“เรามีประสบการณ์ทางทหารในฝั่งของเรา และจากประสบการณ์นี้จะเราสามารถเสริมกำลังการต่อสู้ได้” โฆษก TNLA กล่าว
ด้านโฆษกของรัฐบาลทหารยอมรับว่ากองทัพจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการขับไล่กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพออกจากดินแดนที่ถูกยึดไป
“เราไม่สามารถยึดดินแดนกลับมาได้ภายในระยะเวลา 1 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ผมหวังว่าผมจะมีข่าวที่น่ายินดีให้คุณในอีก 2-3 ปีข้างหน้า” โฆษกรัฐบาลทหารระบุผ่านทางอีเมลถึงสำนักข่าวเอพี
เนื่องจากกองทัพเผชิญกับอุปสรรคในการสู้รบภาคพื้นดิน พวกเขาจึงหันไปพึ่งการโจมตีทางอากาศและระดมยิงปืนใหญ่อย่างไม่เลือกมากขึ้น เป็นผลให้พลเรือนเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศเพิ่มขึ้น 95% และจากปืนใหญ่เพิ่มขึ้น 170% นับตั้งแต่ปฏิบัติการ 1027 เริ่มขึ้น ตามรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนก่อน
กองทัพพม่าถูกกล่าวหาว่าจงใจโจมตีพลเรือนที่กองทัพเชื่อว่าสนับสนุนกองกำลังต่อต้าน ยุทธวิธีที่ยิ่งทำให้ประชาชนต่อต้านกองทัพมากขึ้น
“ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลอย่างที่พวกเขาต้องการ มันยิ่งทำให้พวกเขาถูกประชาชนเกลียดชังมากขึ้น และยิ่งทำให้แน่ใจว่านี่อาจเป็นจุดจบของกองทัพพม่าอย่างที่ทราบกัน” อิซาเบล ทอดด์ ผู้ประสานงานกลุ่ม SAC-M ระบุ
โฆษกของกองทัพพม่าปฏิเสธว่ากองทัพพุ่งเป้าโจมตีพลเรือน โดยระบุว่ากองกำลังติดอาวุธเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสังหารพลเรือนและเผาหมู่บ้าน
สหประชาชาติระบุว่า พลเรือนหลายแสนคนต้องพลัดถิ่นจากการสู้รบ และปัจจุบันมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมากกว่า 3 ล้านคน และประชาชนราว 18.6 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือ.