xs
xsm
sm
md
lg

เหตุปะทะ-น้ำท่วมกระทบสำรวจสำมะโนประชากร รัฐบาลทหารพม่าขยายเวลาเพิ่ม 2 สัปดาห์ ทำเตรียมเลือกตั้งล่าช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR ออนไลน์ - รัฐบาลทหารพม่าถูกบังคับให้ขยายเวลาสำรวจสำมะโนประชากรออกไปอีก 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่เผย หลังการต่อสู้และภัยคุกคามจากการโจมตีผู้บริหารของรัฐบาลทหาร รวมถึงน้ำท่วมจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นยางิ ทำให้ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ในหลายพื้นที่ของประเทศ

การสำรวจสำมะโนประชากรที่มีเป้าหมายเพื่อนับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งปี 2568 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ของประเทศ ที่กล่าวว่าการเตรียมเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศเป็นไปไม่ได้

นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 3 ปีก่อน รัฐบาลทหารอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ให้จัดการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลยังคงขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และบังคับใช้กฎหมายการขึ้นทะเบียนใหม่อย่างเข้มงวดที่ส่งผลให้พรรคการเมืองหลายพรรคไม่สามารถร่วมลงเลือกตั้งได้ รวมทั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย

หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาสำรวจสำมะโนประชากรอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคาร (15) กระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและประชากรของรัฐบาลทหารระบุว่า จำเป็นต้องใช้เวลาเพิ่มเติมในการเข้าถึงครัวเรือนต่างๆ ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง และภูมิภาคที่ถนนถูกตัดขาดจากพายุและน้ำท่วมเมื่อเร็วๆ นี้

“แม้ว่าเราจะดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากรตั้งแต่วันที่ 1-15 ต.ค. แต่ยังมีภูมิภาคอื่นๆ อีกที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ เราจะดำเนินการสำรวจต่อไป แต่บอกไม่ได้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงตรวจคนเข้าเมือง กล่าว

รัฐบาลทหารวางแผนที่จะเพิ่มผู้แจงนับอีก 40,000 คน จากเดิมที่มีอยู่เกือบ 110,000 คน เพื่อทำงานรวบรวมข้อมูลสำมะโนประชากร กระทรวงระบุ

เมื่อวันพุธ (16) สื่อของรัฐได้แนะนำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่ได้รับการสำรวจติดต่อคณะกรรมการสำมะโนประชากรกลาง โดยเสริมว่าการสำรวจสำมะโนประชากรจะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. และคณะกรรมการมีแผนที่จะเผยแพร่ผลเบื้องต้นในเดือน ธ.ค.

กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ยังคงยึดดินแดนจากกองกำลังรัฐบาลทหารในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ พื้นที่ชายแดน เช่น รัฐกะฉิ่น รัฐกะเหรี่ยง และรัฐกะยา และภาคมัณฑะเลย์ ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่ากองกำลังของรัฐบาลทหารจะสามารถนับจำนวนได้อย่างแม่นยำในพื้นที่เหล่านั้นได้อย่างไร ผู้สังเกตการณ์ระบุว่าการปะทะกันเกิดขึ้นทุกวันในกว่า 230 เมืองจากทั้งหมด 330 เมืองของพม่า และสถานการณ์ก็มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ผู้สำรวจสำมะโนประชากร และกองกำลังทหารและตำรวจที่คอยคุ้มกัน ถูกกองกำลังติดอาวุธโจมตีในรัฐชิน ภาคสะกาย นครย่างกุ้ง และภาคตะนาวศรี ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.

ชาวเมืองตาเซ ของภาคสะกายกล่าวว่า ข้อมูลถูกรวบรวมได้แค่ประมาณ 10 หมู่บ้านจากมากกว่า 270 หมู่บ้านในพื้นที่

“ครอบครัวที่ต่อต้านรัฐบาลทหารอพยพไปยังพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายตรงข้ามเนื่องจากกลัวการจับกุมและทรมาน ขณะที่ผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารยังคงอยู่ในหมู่บ้านของตน ด้วยเหตุนี้ทำไม่ให้สามารถนับจำนวนประชากรได้อย่างแม่นยำ” ชาวบ้าน ระบุ

“รัฐบาลทหารไม่สามารถรวบรวมข้อมูลสำมะโนประชากรได้ครบถ้วนแม้แต่ในพื้นที่ที่มีทหารอยู่มากของย่างกุ้งก็ตาม บางครอบครัวเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการสำรวจสำมะโนประชากรโดยปิดห้องของพวกเขา และกลับมาในภายหลัง หลายครอบครัวถูกขอให้ไปที่สำนักงานปกครองท้องถิ่นเพื่อให้ข้อมูลสำมะโนประชากร แต่หลายครอบครัวไม่สนใจคำเชิญนี้” ผู้อยู่อาศัยรายหนึ่ง กล่าว

เขากล่าวว่า ประชาชนแสดงความกังวลเกี่ยวกับคำถามการสำรวจสำมะโนประชากร รวมถึงคำถามที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ภาษาพูด ประวัติการย้ายถิ่นฐาน และอาชีพ

ด้าน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ให้ความร่วมมือกับแผนการเลือกตั้ง และเตือนว่า “รัฐบาลจะเริ่มสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคและแก้ไขกระบวนการปฏิรูปให้เร็วที่สุดได้ก็ต่อเมื่อประเทศมีสันติภาพและเสถียรภาพ”

ทั้งนี้ อดีตผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งรายหนึ่ง กล่าวว่า รัฐบาลทหารจะไม่สามารถสำรวจสำมะโนประชากรได้ในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังที่ต่อต้านระบอบของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย

“มีกองกำลังจำนวนมากที่ปกป้องพื้นที่ดังกล่าวที่พวกเขาไม่อนุญาตให้ทำการสำรวจสำมะโนประชากรให้เสร็จสิ้น แม้แต่ในย่างกุ้ง ก็ไม่ง่ายที่จะสำรวจ” อดีตผู้สังเกตการณ์ กล่าว โดยอ้างถึงเมืองใหญ่ที่สุดของพม่า ที่กลุ่มกองโจรได้วางระเบิดสำนักงานฝ่ายปกครองไม่กี่วันก่อนเริ่มการสำรวจ

“นอกจากนี้ ยังมีผู้เก็บข้อมูลน้อยมาก การรวบรวมข้อมูลเป็นระยะอาจเป็นเรื่องยาก พวกเขากำลังเสี่ยงต่อความปลอดภัยและชีวิตของพวกเขาอย่างแน่นอน”

ทั้งนี้ การสำรวจสำมะโนประชากรของพม่าในปี 2557 ใช้เวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. ถึงวันที่ 10 เม.ย. ครอบคลุมพื้นที่ 98% ของประเทศ ยกเว้นเพียงบางพื้นที่ในรัฐยะไข่ รัฐกะเหรี่ยง และรัฐกะฉิ่น.


กำลังโหลดความคิดเห็น