เอเอฟพี - ผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประณามความพยายามของพม่าในการดำเนินการตามแผนเพื่อยุติสงครามกลางเมืองของประเทศว่า “ไม่เพียงพออย่างมาก” ตามร่างคำแถลงของการประชุมสุดยอดที่เอเอฟพีได้เห็น
รัฐบาลทหารพม่าเห็นพ้องกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในแผน 5 ข้อ ไม่กี่สัปดาห์หลังจากยึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564 แต่ยังคงดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างนองเลือด
อาเซียนได้นำความพยายามทางการทูตที่ยังไร้ผลมาจนถึงขณะนี้เพื่อยุติความขัดแย้งที่คร่าชีวิตผู้คนหลายพันคน บังคับให้ประชาชนหลายล้านต้องอพยพออกจากบ้านของตนเอง และผลักดันให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากแสวงหาอนาคตที่ดีกว่าในต่างแดน
หลังหารือเกี่ยวกับความขัดแย้งในการประชุมสุดยอดประจำปีของพวกเขาที่จัดขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ ผู้นำของกลุ่ม 10 ประเทศได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารดำเนินการเพื่อนำฉันทมติ 5 ข้อไปปฏิบัติ โดยกล่าวว่าความคืบหน้าจนถึงขณะนี้ยังไม่เพียงพออย่างมาก
ผู้นำอาเซียนยังเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและฝ่ายต่างๆ ในพม่า โดยเฉพาะกองกำลังติดอาวุธและกองกำลังความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ลดความรุนแรงและหยุดการโจมตีพลเรือนและสถานที่สาธารณะ คำแถลงเกี่ยวกับวิกฤตพม่าระบุ
อาเซียนเคยมีคำร้องในลักษณะเดียวกันนี้หลังจากการประชุมสุดยอดในปี 2565 และในปี 2566 แต่มีผลเพียงเล็กน้อย
ทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าของสหประชาชาติ กล่าวว่าการตอบสนองของนานาชาติต่อสงครามดังกล่าวไม่ได้ผลอย่างเห็นได้ชัด
แอนดรูว์สเรียกร้องให้มีการประสานงานกันเพื่อทำให้รัฐบาลทหารขาดแคลนเงิน อาวุธ และความชอบธรรม
รัฐบาลทหารประสบกับความพ่ายแพ้ในสนามรบหลายครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาต่อกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่สนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งลุกขึ้นต่อต้านการรัฐประหาร
เมื่อปลายเดือนก่อน รัฐบาลทหารได้ออกคำเชิญที่ไม่เคยมีมาก่อนแก่ศัตรูของพวกเขาให้หยุดการสู้รบและเข้าร่วมการเจรจาหารือเพื่อยุติสงคราม
อย่างไรก็ตาม กลุ่มติดอาวุธชั้นนำบางกลุ่มปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว ความเคลื่อนไหวที่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นการเอาใจจีนที่เป็นพันธมิตรหลักของรัฐบาลทหาร ที่ต้องการหยุดความวุ่นวายที่หน้าประตูบ้านของตน
ผู้นำอาเซียนได้หารือแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี กับผู้แทนของรัฐบาลทหารพม่า ที่การประชุมสุดยอดในวันพุธ แม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่มีความคืบหน้าสำคัญใดๆ ก็ตาม
เนื่องจากการเจรจาทางการทูตอย่างเป็นทางการยังไม่มีความคืบหน้า ไทยระบุว่าจะจัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับวิกฤตพม่าในเดือน ธ.ค. โดยมีสมาชิกอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านเช่น จีน และอินเดียเข้าร่วมด้วย.