เอเอฟพี - ความพยายามจากทั่วโลกที่จะหยุดสงครามกลางเมืองของพม่านั้น “ไม่ได้ผลอย่างชัดเจน” ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติกล่าวเตือนวันนี้ (10) ขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ทำให้รัฐบาลทหารขาดเงิน อาวุธ และความชอบธรรม
ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ อธิบายถึงสถานการณ์ของพม่าว่าเลวร้ายลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นสะเทือนขวัญ และกล่าวว่ามีผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นจากการสู้รบในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ความขัดแย้งดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมของผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในลาวสัปดาห์นี้ ที่บรรดาผู้นำได้กดดันให้รัฐบาลทหารพม่าและฝ่ายตรงข้ามดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อหยุดยั้งการนองเลือด
นับตั้งแต่กองทัพพม่ายึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564 รัฐบาลทหารจับกุมผู้คนมากกว่า 20,000 คน ในการปราบปรามผู้เห็นต่าง และทิ้งระเบิดโจมตีพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายตรงข้าม แอนดรูว์ระบุ
แม้จะมีอำนาจในด้านอาวุธ แต่กองทัพยังไม่สามารถปราบปรามการโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์และกองกำลังพลเรือนในหลายรัฐได้
กองทัพเสียการควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศอย่างกว้างขวาง
ระหว่างการเยือนออสเตรเลีย แอนดรูว์กล่าวว่ารัฐบาลทหารสูญเสียกำลังพลไปหลายหมื่นนายในสนามรบ และหันไปเกณฑ์ทหารเพื่อจัดตั้งกองกำลังขึ้นใหม่
“รัฐบาลทหารตอบสนองความสูญเสียด้วยการโจมตีเป้าหมายพลเรือนมากขึ้น” แอนดรูว์ ระบุ และประเมินว่ากองกำลังของรัฐบาลทหารได้สังหารพลเรือนไปแล้วมากกว่า 5,600 คน
แอนดรูว์เรียกร้องให้มหาอำนาจระดับภูมิภาคและระดับโลกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางกฎหมาย การเงิน และการค้าเพิ่มเติม
“มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการในระดับนานาชาติ” แอนดรูว์ กล่าว เรียกร้องให้มหาอำนาจระดับภูมิภาคทำให้รัฐบาลทหารพม่าขาดเงิน อาวุธ และความชอบธรรม
“การตอบสนองของนานาชาติต่อวิกฤตนี้ชัดเจนว่าไม่ได้ผล ผมกังวลว่าวิกฤตที่ลุกลามในพม่าจะกลายเป็นเรื่องที่คนในโลกส่วนใหญ่มองไม่เห็น” แอนดรูว์ ระบุ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการประชุมฉุกเฉิน
นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้ออสเตรเลียและประเทศที่มีแนวคิดเดียวกันดำเนินคดีกับผู้นำของพม่าในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อนำข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามเข้าสู่กระบวนการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮก
การดำเนินคดีดังกล่าวส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการข่มเหงชาวมุสลิมโรฮิงญามานานหลายทศวรรษ ทั้งถูกสังหาร ลักพาตัว และถูกบังคับให้ต้องอพยพข้ามแดนเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศ
บังกลาเทศเป็นที่อยู่ของผู้ลี้ภัยโรฮิงญาประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่หลบหนีการปราบปรามในปี 2560.