xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนร้องยุติความรุนแรงนองเลือดในพม่า ยึดแผนฟื้นฟูสันติภาพ 5 ข้อแก้วิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กดดันให้รัฐบาลทหารพม่าและฝ่ายตรงข้ามดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อยุติการนองเลือดในสงครามกลางเมืองของประเทศ และพยายามกระตุ้นความพยายามทางการทูตที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเพื่อแก้ไขวิกฤตดังกล่าว

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ พยายามหาทางแก้ไขวิกฤตพม่า ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน และอีกหลานล้านคนต้องอพยพออกจากบ้านของตนเองนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564

วิกฤตพม่าครอบงำการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันแรกที่นครหลวงเวียงจันทน์ ที่ปัญหาทะเลจีนใต้ก็จะเป็นอีกวาระสำคัญของการประชุมเช่นกัน

ผู้นำอาเซียนได้พบหารือแบบเห็นหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี กับผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลทหารพม่าในวันแรกของการประชุม

รัฐบาลทหารพม่าประสบความพ่ายแพ้ในสนามรบในช่วงปีที่ผ่านมาจากการโจมตีครั้งใหม่ของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่ลุกขึ้นต่อต้านการรัฐประหาร

ผู้นำอาเซียนได้ประณามการโจมตีพลเรือนและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อยุติความรุนแรงที่ไม่เลือกปฏิบัติในทันที ร่างคำแถลงของประธานการประชุมระบุ

รัฐบาลทหารได้เห็นพ้องกับแผนฉันทมติ 5 ข้อกับอาเซียนเพื่อฟื้นฟูสันติภาพไม่กี่สัปดาห์หลังโค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจี แต่กลับดำเนินการปราบปรามอย่างนองเลือดต่อฝ่ายที่ต่อต้านการปกครองของพวกเขา

หลังประณามพม่าที่เพิกเฉยต่อแผน 5 ข้อ ที่การประชุมสุดยอดในปี 2565 และปี 2566 บรรดาผู้นำได้ยืนกรานอีกครั้งในวันพุธว่าแผน 5 ข้อนี้ยังคงเป็นแนวทางหลักในการจัดการกับวิกฤต ร่างคำแถลงของประธานกลุ่มระบุ

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่ชัดเจนว่าจะบังคับใช้แผนดังกล่าวอย่างไร

“เรากำลังพยายามหาหนทางที่จะก้าวไปข้างหน้า เพราะเราต้องยอมรับว่าถึงแม้ว่าจะมีฉันทมติ 5 ข้อ แต่เรายังไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้จริงๆ” ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

“เรากำลังพยายามกำหนดยุทธวิธีใหม่” ผู้นำฟิลิปปินส์ กล่าว และเสริมว่ายุทธวิธีใหม่เหล่านั้นยังไม่ได้มีการตัดสินใจ

ส่วนโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยยืนยันว่ายังไม่มีการหารือในที่ประชุมสุดยอดว่าจะดำเนินการตามแผนสันติภาพอย่างไร

พม่าส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ หลังจากปฏิเสธการประชุมสุดยอด 3 ปี เนื่องจากกลุ่มห้าม พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า เข้าร่วมเนื่องจากการรัฐประหาร

ความล้มเหลวของอาเซียนที่จะสร้างความคืบหน้าที่จับต้องได้ในการแก้ไขสงครามกลางเมืองในประเทศสมาชิก ได้จุดชนวนคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอาเซียน

“ยิ่งวิกฤตพม่ายังไม่ได้รับการแก้ไขนานเท่าไร ความเสี่ยงที่อาเซียนจะหมดประโยชน์ในการแก้ไขความขัดแย้งภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น” นักวิเคราะห์กิจการระหว่างประเทศ จาก Solaris Strategies Singapore กล่าว

เนื่องจากการทูตอย่างเป็นทางการไม่ทำให้เกิดความคืบหน้า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับวิกฤตดังกล่าวในเดือน ธ.ค. โดยมีสมาชิกของอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน และอินเดีย เข้าร่วม

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการเจรจากับผู้นำอาเซียนในนครหลวงเวียงจันทน์ในวันศุกร์ (11) ที่คาดว่าเขาจะกดดันรัฐบาลทหารพม่าให้ดำเนินการต่างๆ เช่น ลดความรุนแรง ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม

นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน ที่เป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดของพม่ามาอย่างยาวนาน จะหารือกับผู้นำอาเซียนในวันพฤหัสฯ (10) ก่อนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น และประธานาธิบดีของเกาหลีใต้

ทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาทจะเป็นประเด็นหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง หลังจากเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างเรือของจีนและชาวประมงฟิลิปปินส์และเวียดนามมานานหลายเดือน

ปักกิ่งอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ขณะที่สมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และบรูไน ต่างก็อ้างสิทธิเหนือเกาะขนาดเล็กและแนวปะการังหลายแห่ง

ร่างคำแถลงของการประชุมสุดยอดย้ำถึงข้อเรียกร้องที่ยาวนานของอาเซียนในการใช้ความยับยั้งชั่งใจและเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น