xs
xsm
sm
md
lg

สงครามกลางเมืองพม่ายังเป็นประเด็นหลักในการประชุมสุดยอดอาเซียนในลาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พบหารือกับผู้แทนของรัฐบาลทหารพม่าที่การประชุมสุดยอดระดับภูมิภาคในวันพุธ (9) โดยพวกเขาพยายามที่จะกระตุ้นความพยายามทางการทูตเพื่อยุติสงครามกลางเมืองของประเทศ

ทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาทจะอยู่ในวาระการประชุมของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เช่นกัน หลังจากการปะทะกันอย่างรุนแรงหลายเดือนระหว่างเรือจีนกับเรือประมงของฟิลิปปินส์และเวียดนาม

อาเซียนพยายามหาทางแก้ไขวิกฤตพม่า ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน และอีกหลายล้านคนต้องอพยพออกจากบ้านของตนเอง ด้วยการเจรจามานานกว่า 3 ปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

กลุ่มภูมิภาคห้ามผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอดหลังเกิดการรัฐประหารในเดือน ก.พ.2564 และนายพลได้ปฏิเสธคำเชิญให้ส่งตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองมาเข้าร่วมแทน

แต่ครั้งนี้ รัฐบาลทหารได้ยอมตามและส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม 3 วันในลาว ที่ถือเป็นตัวแทนครั้งแรกในการประชุมระดับสูงในรอบกว่า 3 ปี

การเปลี่ยนท่าทีดังกล่าวเกิดขึ้น 2 สัปดาห์หลังจากกองทัพได้ออกคำเชิญที่ไม่เคยมีมาก่อนไปยังศัตรูของพวกเขาเพื่อเจรจายุติความขัดแย้ง หลังกองทัพพ่ายแพ้ในสนามรบหลายครั้ง

ไม่กี่สัปดาห์หลังกองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี รัฐบาลทหารได้เห็นพ้องกับแผนฉันทมติ 5 ข้อกับอาเซียนเพื่อฟื้นฟูสันติภาพ แต่ต่อมากลับเพิกเฉยแผนดังกล่าวและเดินหน้าปราบปรามผู้เห็นต่างและฝ่ายต่อต้านอย่างนองเลือด

โมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย ที่ประเทศจะรับไม้ต่อตำแหน่งประธานอาเซียนหลังการประชุมสุดยอด กล่าวว่าถึงเวลาที่พม่าจะต้องให้ความร่วมมือ

“พม่าต้องรับฟังอาเซียน พวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนเพราะเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน” โมฮัมหมัด ฮาซัน กล่าวกับผู้สื่อข่าว

เจ้าหน้าที่หวังว่าการหารือแบบพบหน้ากันครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่งของบรรดาผู้นำกับผู้แทนของรัฐบาลทหารพม่า คือ อ่อง จ่อ โม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะช่วยเปิดทางสู่ความก้าวหน้า

อ่อง จ่อ โม เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันอังคาร (8) ที่เขาร้องขอความเข้าใจในขณะที่พม่าพยายามหาทางแก้ปัญหาอย่างสันติ

แต่แดเนียล คริเทนบริงค์ นักการทูตระดับสูงประจำเอเชียตะวันออกของสหรัฐฯ ตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลทหารพม่ากำลังพยายามประนีประนอม

เขากล่าวว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่เป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ในการประชุมอาเซียน จะกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าดำเนินการต่างๆ เช่น ลดความรุนแรง ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม

“น่าเสียดาย เราแทบไม่เห็นความคืบหน้าในประเด็นสำคัญเหล่านี้” คริเทนบริงค์ กล่าว

นักวิเคราะห์กิจการระหว่างประเทศจาก Solaris Strategies Singapore กล่าวว่าวิกฤตพม่าจะกำหนดอนาคตของอาเซียนว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรในการนำทางภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป

“ยิ่งวิกฤตพม่ายังไม่ได้รับการแก้ไขนานเท่าไร ความเสี่ยงที่อาเซียนจะหมดประโยชน์ในการแก้ไขความขัดแย้งภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น” นักวิเคราะห์ กล่าว

กลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารก็ไม่ประทับใจกับความพยายามทางการทูตเช่นกัน

โฆษกของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่ต่อสู้กับกองทัพมานานหลายทศวรรษตามแนวชายแดนไทย กล่าวว่าการเจรจาสันติภาพภายใต้การนำของอาเซียนนาน 3 ปี แสดงให้เห็นเพียงแค่กลไกที่ไม่สมบูรณ์ของกลุ่มเท่านั้น

“อาเซียนจำเป็นต้องประสานงานกับสองประเทศมหาอำนาจคือจีนและสหรัฐฯ หากไม่มีไฟเขียวจาก 2 มหาอำนาจ อาเซียนก็คงไปไม่ถึงไหน” โฆษก KNU ระบุ

วิกฤตพม่าครอบงำการประชุมระดับสูงทุกครั้งนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ซึ่งกลุ่มก็มีความเห็นต่างในประเด็นนี้ โดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นผู้นำในการเรียกร้องให้มีการดำเนินการที่เข้มงวดขึ้นกับนายพลพม่า

ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ คาดว่าจะผลักดันการหารือเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ที่เรือยามชายฝั่งของจีนและเรือลำอื่นๆ ได้พุ่งเข้าชน ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และขัดขวางเรือของรัฐบาลฟิลิปปินส์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ในเดือนนี้ เวียดนามได้ประณามพฤติกรรมโหดร้ายของจีน หลังชาวประมง 10 คน ถูกทุบตีด้วยท่อนเหล็กและถูกปล้นปลาและอุปกรณ์รวมมูลค่าหลายพันดอลลาร์

ปักกิ่งอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ที่เป็นเส้นทางน้ำที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และการค้ามูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์แล่นผ่านทุกปี

สมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ คือฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และบรูไน ต่างอ้างสิทธิเหนือเกาะขนาดเล็กและแนวปะการังต่างๆ ในน่านน้ำแห่งนี้

นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน เดินทางถึงลาวในวันพุธ หนึ่งวันก่อนหารือกับผู้นำกลุ่มอาเซียนและจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ร่วมกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น และประธานาธิบดีของเกาหลีใต้

ส่วนนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย จะจัดการหารือกับอาเซียนในวันพฤหัสฯ

ประเด็นเรื่องสงครามในตะวันออกกลางและยูเครนจะรวมอยู่ในการหารือด้วยเช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น