xs
xsm
sm
md
lg

แค่เดือนกว่า! ลาวเจอพายุแล้ว 4 ลูก 2 แสนคนเดือดร้อน ดับ 10 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ลาวต้องเผชิญกับน้ำท่วมหนักตลอด 2 เดือน จากพายุที่ซัดกระหน่ำเข้ามาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม ถึง 4 ลูกด้วยกัน (ภาพจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว)
MGR Online - ลาวสรุปผลกระทบเบื้องต้นจากพายุ 4 ลูก ที่พัดเข้ามาตั้งแต่ 18 ก.ค. ชาวบ้านเดือดร้อนจากน้ำท่วมกว่า 2 แสนคน เสียชีวิตรวม 10 ราย สูญหายอีก 2 บ้านพัง 969 หลัง ทำลายพื้นที่การเกษตร 1.8 แสนไร่

วานนี้ (25 ก.ย.) สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว ได้รายงานข้อมูลจากที่ประชุมปรึกษาหารือเรื่องการแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงป้องกันประเทศแเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 โดยมี พล.อ.จันสะหมอน จันยาลาด รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ เป็นประธาน

โดยที่ประชุมได้สรุปภาพรวมผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว ปีนี้ว่า ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคมเป็นต้นมา ลาวได้เผชิญกับพายุขนาดใหญ่มาแล้วจำนวน 4 ลูก ได้แก่ พายุดีเปรสชัน พายุโซนร้อนพระพิรุณ พายุไต้ฝุ่นยางิ และล่าสุดคือพายุซูลิก ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่ 15 แขวงของลาว ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นเป็นเงินประมาณ 720.2 พันล้านกีบ หรือประมาณ 1.1 พันล้านบาท


พื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหายจากพายุทั้ง 4 ลูก แบ่งเป็น 125 เมือง 1,337 บ้าน ประชากรได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 50,889 ครอบครัว หรือ 200,169 คน มีผู้เสียชีวิตรวม 10 ราย และสูญหายอีก 2 คน ตลอด 2 เดือนที่ต้องเผชิญกับพายุ

พายุทั้ง 4 ลูก ได้ทำลายบ้านเรือนประชาชนรวม 969 หลัง เป็นบ้านที่เสียหายทั้ง 100% จำนวน 137 หลัง เสียหายบางส่วน 832 หลัง ทำลายพื้นที่การเกษตร 29,659.39 เฮกตาร์ หรือ 185,371.18 ไร่ มีคลองชลประทานเสียหาย 125 แห่ง บ่อปลาเสียหาย 697 บ่อ มีสัตว์เลี้ยงและสัตว์ปีกเสียชีวิต 11,866 ตัว

พายุได้ทำให้ถนนและเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหาย 272 สาย ทำลายสะพานไป 14 แห่ง อาคารเรียนในโรงเรียนเสียหาย 79 หลัง โรงพยาบาลแขวงเสียหาย 1 แห่ง สุขศาลาเสียหาย 13 แห่ง บ่อน้ำบาดาลเสียหาย 37 แห่ง เสาไฟฟ้าโค่นล้ม 312 ต้น และระบบน้ำประปาเสียหาย 6 จุด


นอกจากนี้ ยังมีระบบโทรคมนาคม อาคารสำนักงานของหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชน โรงงาน ตลาด รวมถึงยานพาหนะอีกเป็นจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากพายุทั้ง 4 ลูก

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในที่ประชุมเป็นตัวเลขที่สรุปจนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 เท่านั้น แต่ปัจจุบัน หลายพื้นที่โดยเฉพาะแขวงในภาคใต้ของลาวยังคงเผชิญกับน้ำท่วมหนักจากระดับน้ำในแม่น้ำโขง และลำน้ำสาขาหลายสายที่เพิ่มสูงขึ้น.




กำลังโหลดความคิดเห็น